บาลีวันละคำ

สมถกรรมฐาน (บาลีวันละคำ 3,890)

สมถกรรมฐาน

สมถกรรมฐาน

คำที่ถูกใช้งาน แต่ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม

อ่านว่า สะ-มะ-ถะ-กำ-มะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า สมถ + กรรมฐาน

(๑) “สมถะ”

อ่านว่า สะ-มะ-ถะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ถ ปัจจัย

: สมฺ + ถ = สมถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ยังความพอใจในกามให้สงบ”

“สมถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สงบนิ่ง, สงบใจ (calm, quietude of heart)

(2) การระงับอธิกรณ์ (settlement of legal questions) ดังคำในพระวินัยว่า “อธิกรณสมถะ” (ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์)

บาลี “สมถ” สันสกฤตเป็น “ศมถ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“ศมถ : (คำนาม) ความสงบหรือระงับ; พุทธิสหาย, อมาตย์; tranquillity; a counsellor, a minister.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สมถะ” ไว้ว่า –

“สมถ-, สมถะ : (คำนาม) การทำใจให้สงบโดยเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์. (คำวิเศษณ์) มักน้อย เช่น คนสมถะมีความเป็นอยู่เรียบง่าย. (ป.; ส. ศมถ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า –

“สมถะ : ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต, ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส, การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ (ข้อ ๑ ในกรรมฐาน ๒ หรือ ภาวนา ๒).”

(๒) “กรรมฐาน”

อ่านว่า กำ-มะ-ถาน ประกอบด้วยคำว่า กรรม + ฐาน

(ก) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ > ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม

: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม (นปุงสกลิงค์)

“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” มีความหมายหลายอย่าง –

(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (action, the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”

(ข) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”

“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

กมฺม + ฐาน = กมฺมฏฺฐาน (กำ-มัด-ถา-นะ)

โปรดสังเกตว่า มีอักษร ฏ ปฏัก ซ้อนแทรกระหว่าง กมฺม|ฏ|ฐาน

เขียนตามศัพท์เดิมเป็น “กัมมัฏฐาน” อ่านแบบไทยว่า กำ-มัด-ถาน

เขียนแบบลูกครึ่งสันสกฤต (กรรม) – บาลี (ฐาน) เป็น “กรรมฐาน” อ่านว่า กำ-มะ-ถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “กัมมัฏฐาน” และ “กรรมฐาน”

ที่คำว่า “กรรมฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ มี ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา”

ส่วนที่ “กัมมัฏฐาน” บอกให้ดูที่ “กรรมฐาน” นั่นแปลว่า คำนี้รูปคำที่เป็นหลักคือ “กรรมฐาน” แต่ใครจะเขียนเป็น “กัมมัฏฐาน” ก็ไม่ผิด

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “กัมมัฏฐาน” เก็บความได้ดังนี้ –

………….

(1) กัมมัฏฐาน : ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา

(2) กัมมัฏฐาน 2 โดยหลักทั่วไป คือ 1. สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ 2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา”

(3) สิ่งที่นิยมใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับตน เช่นให้ตรงกับจริต มี 40 อย่าง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 อรูป 4

ส่วนสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือรูป-นาม หรือขันธ์ 5

………….

สมถ + กรรมฐาน = สมถกรรมฐาน (สะ-มะ-ถะ-กำ-มะ-ถาน)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า “กรรมฐานคือสมถะ, งานฝึกจิตให้สงบ”

และที่คำว่า “กัมมัฏฐาน” เขียนเป็น “สมถกัมมัฏฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ”

………….

การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญจิตภาวนาในพระพุทธศาสนา มีวิธีการ 2 อย่าง คือ –

(1) สถถกรรมฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ

(2) วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงศึกษาให้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมาย และเมื่อลงมือปฏิบัติก็พึงกำหนดรู้ว่า ตนกำลังปฏิบัติกรรมฐานแบบไหน

………….

อภิปราย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สมถ-” ไว้

ขีด – ท้ายคำหมายความว่า มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ซึ่งพจนานุกรมฯ เก็บไว้อีก 2 คำ (เรียกว่า “ลูกคำ”) คือ “สมถยานิก” และ “สมถวิปัสสนา”

แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “สมถกรรมฐาน” ไว้

…………..

ดูก่อนภราดา!

คำกับคน ชอบกลพอๆ กัน –

: คำบางคำมีที่ใช้ แต่ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม

: คนบางคนเรียกใช้งานได้ แต่ไม่มีตำแหน่งให้

#บาลีวันละคำ (3,890)

05-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *