บาลีวันละคำ

โคตรภูสงฆ์ (บาลีวันละคำ 3,895)

โคตรภูสงฆ์

โคตรภูสงฆ์

ออกเสียงยาก แต่พบได้ง่าย

อ่านว่า โคด-ตฺระ-พู-สง

ประกอบด้วยคำว่า โคตรภู + สงฆ์

(๑) “โคตรภู” 

เขียนแบบบาลีเป็น “โคตฺรภู” (มีจุดใต้ ตฺ) อ่านว่า โคด-ตฺระ-พู รากศัพท์มาจาก โคตฺร + ภู

(ก) “โคตฺร” (โคด-ตฺระ) คำเดิมคือ “โคตฺต” อ่านว่า โคด-ตะ มาจากรากศัพท์ดังนี้ –

(1) โค (ชื่อ, ความรู้, ชื่อเสียง) + ตา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน , ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > )

: โค + ตา = โคตา > โคต + + = โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้

(2) คุปฺ (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ, แผลง อุ ที่ คุ-(ปฺ) เป็น โอ (คุปฺ > โคปฺ), แปลง เป็น  

: คุปฺ + = คุปฺต > โคปฺต > โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้

โคตฺต” หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)

โคตฺต” ในบาลี เป็น “โคตฺร” ในสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

โคตฺร : (คำนาม) ‘โคตร์,’ กุล, วงศ์, วงศาวลี, สันตติ, ญาติ; นาม, ชื่อ; อรัณย์, ป่า; เกษตร์, นา; ฉัตร, ร่ม; มารค, ทาง; ความรู้ถึงอนาคตกาล, ความล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคต; เภท, ประเภท, ชนิด; ชาติ์, วรรค, อุปศาขาหรือประวิภาคชาติ์ลงเปนวงศ์, เช่นในวงศ์พราหมณ์พึงนับได้ยี่สิบสี่โคตร์, คาดกันว่าเกิดจากและได้นามตามประสิทธาจารย์, ดุจศาณฺฑิลฺย (โคตร์), กาศฺยป (โคตร์), เคาตม (โคตร์), ภรัชฺวาชฺ (โคตร์), ฯลฯ; วรรธนะ, วรรธนการ; ธน, ทรัพย์, สมบัติ; ภูมณฑล, โลก; โคกุล, ฝูงโค; บรรพต; family, race, lineage, kin; a name, an appellation; a forest; a field; an umbrella or parasol; a road, a way; knowledge of futurity, inspiration; genus, a class or species; a caste, a tribe, a subdivision of tribe into families, as in that of the Brahman twenty-four Gotras are reckoned, supposed to be sprung from and named after celebrated teachers, as Śâṇḍilya (gotra), Kâśyapa (gotra), Gautama (gotra), Bharadwâj (gotra), &c.; increase; wealth, riches, property; the earth; a herd of kine; a mountain.”

โคตฺต” ในบาลี ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “โคตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โคตร, โคตร– : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล)”

เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้นๆ ในภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้นๆ 

(ข) โคตฺต + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ตฺต ที่ (โค)-ตฺต เป็น ตฺร 

: โคตฺต + ภู + = โคตฺตภู > โคตฺรภู แปลตามศัพท์ว่า “ญาณที่ครอบงำโคตรที่เป็นปุถุชน และยังโคตรที่เป็นอริยะให้เกิด” “ปัญญาที่ยังเชื้อสายแห่งมหัคคตะหรือโลกุตระให้เกิดให้เจริญ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โคตฺรภู” ว่า “become of the lineage” (“กลายเป็นเชื้อสาย”) และขยายความต่อไปว่า –

…………..

a technical term used from the end of the Nikāya period to designate one, whether layman or bhikkhu, who, as converted, was no longer of the worldlings (puthujjanā), but of the Ariyas, having Nibbāna as his aim. 

(เป็นศัพท์เชิงวิชาการใช้กันตั้งแต่ปลายยุคนิกายที่บ่งถึงคฤหัสถ์หรือภิกษุก็ตาม ซึ่งเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว ผู้นั้นไม่ใช่ปุถุชน แต่จะกลายเป็นอารยชน ซึ่งมีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง)

…………..

บาลี “โคตฺรภู” ภาษาไทยใช้เป็น “โคตรภู” (ไม่มีจุดใต้ )

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

โคตรภู : ผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรค, ผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โคตรภู : (แบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) บุคคลผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลําดับอริยมรรค, พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดในศาสนา มีขนบธรรมเนียมห่างจากธรรมวินัย แต่ยังถือตนว่าเป็นภิกษุสงฆ์อยู่ เรียกว่า โคตรภูสงฆ์. (ส. โคตฺรภู ว่า อ้างแต่เพศ ไม่มีคุณความดีของเพศ).”

(๒) “สงฆ์

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ (บาลีบางรุ่นสะกดเป็น “สํฆ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ + หนฺ = สํหนฺ > สํฆ + = สํฆ > สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สงฆ์” ไว้ว่า – 

(๑) ภิกษุ เช่น ของสงฆ์ พิธีสงฆ์, บางทีก็ใช้ควบกับคำ พระ หรือ ภิกษุ เป็น พระสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์ 

(๒) ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปร่วมกันทำสังฆกรรม

ขยายความ :

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในภาษาไทย คำว่า “สงฆ์” อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้ 

โคตรภู + สงฆ์ = โคตรภูสงฆ์ 

ในคัมภีร์ไม่พบคำบาลีที่เป็น “โคตฺรภูสงฺฆ” พบแต่ที่เป็น “โคตฺรภู” ไม่มี “สงฺฆ” มาสมาสข้างท้าย 

โคตรภูสงฆ์” จึงเป็นคำที่เราใช้ในภาษาไทยเท่านั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โคตรภู” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “โคตรภูสงฆ์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “โคตรภูสงฆ์” บอกไว้ว่า –

โคตรภูสงฆ์ : พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา

สรุปความ :

คำว่า “โคตรภูสงฆ์” น้ำหนักของคำอยู่ที่ “โคตรภู

สรุปความหมายของ “โคตรภู” คือ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” กล่าวคือ –

(1) ญาณปัญญาหรือระดับจิตของบุคคลที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนสภาพจากปุถุชนเป็นอริยบุคคล

(2) บุคคลที่เป็นบรรพชิตแต่เพียงเพศ แต่ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคฤหัสถ์ ซึ่งตามคัมภีร์ท่านว่าจะปรากฏตัวในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะสิ้นศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความเสื่อม มักจะมาโดยไม่ต้องเชิญ

: ความเจริญ แม้เชิญก็ยังไม่อยากมา

#บาลีวันละคำ (3,895)

10-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *