การ แปลว่า “อักษร” (บาลีวันละคำ 3,900)
กการ แปลว่า “อักษร”
ความหมายที่คนไทยลืมนึก
ภาษาไทยอ่านว่า กาน
ภาษาบาลีอ่านว่า กา-ระ
เห็นคำว่า “การ” คนส่วนมากนึกถึงความหมายอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “การ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.
(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.
(3) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.
…………..
เห็นคำว่า “การ” เราส่วนมากมักเข้าใจในความหมายตามข้อ (1) คือ งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา และ “การ” ที่อยู่หน้านามหน้ากริยาดังที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้ในคำนิยาม
“การ” ในบาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กร > การ)
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำ” (2) “ผู้ทำ”
“การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
(4) ในเป็นชื่อเฉพาะทางไวยากรณ์, คือ นิบาต, อักษร, เสียงหรือคำ (particle, letter, sound or word), เช่น ม-การ (มะ-กา-ระ) = อักษร ม, ตัว ม หรือ ม อักษร, จ-การ (จะ-กา-ระ) = จ อักษร
“การ” เมื่อสมาสกับคำอื่น มีความหมายต่างออกไป คือหมายถึง การทำให้เกิดขึ้นหรือการนำเอาออกมาใช้ = สภาวะหรือคุณภาพ (the production or application of = the state or quality of) เช่น –
อหํการ = สภาวะของตนเอง (individuality)
จิตฺติการ = การไตร่ตรอง, ความคิด (reflection, thought)
อนฺธการ = ความมืด (darkness)
สกฺการ = สักการะ (homage)
พลกฺการ = การใช้กำลัง (forcibleness, forcefulness)
ในที่นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอชวนให้พิจารณา “การ” ตามความหมายในข้อ (4) คือ “การ” ที่หมายถึง ตัวอักษร (letter)
คนไทยส่วนมากคงไม่ได้คิดว่า “การ” หมายถึง ตัวอักษร ทั้งๆ ที่คุ้นกับคำว่า “การ” ที่หมายถึง ตัวอักษร นั่นคือคำว่า “การันต์”
ขยายความ :
“การันต์” บาลีเป็น “การนฺต” อ่านว่า กา-รัน-ตะ กระกอบด้วยคำว่า การ (ตัวอักษร) + อนฺต (ที่สุด) = การนฺต (กา-รัน-ตะ) แปลว่า “ที่สุดของตัวอักษร”
“การันต์” หรือ “การนฺต” ในบาลี” มีความหมายต่างจากที่เข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ “การนฺต” ในบาลีหมายถึงเสียงสระท้ายคำนาม
คำนามในภาษาบาลีมีเสียงสระท้ายคำอยู่ 6 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู
(1) เสียงสระ อะ ท้ายคำ
เช่น “ปุริส” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ พยัญชนะตัวท้ายคือ ส
: –ส + อะ = –สะ คำว่า “ปุริส” จึงเป็น “อะ-การันต์” (ภาษาบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรไทย เสียง อะ ไม่มีรูปสระ คงเขียนแต่พยัญชนะตัวเดียว แต่อ่านอย่างมีสระ อะ กำกับอยู่ด้วย เช่น ส อ่านว่า “สะ” ไม่ใช่ “สอ”)
(2) เสียงสระ อา ท้ายคำ
เช่น “กญฺญา” อ่านว่า กัน-ยา พยัญชนะตัวท้ายคือ ญ
: –ญ + อา = –ญา คำว่า “กญฺญา” จึงเป็น “อา-การันต์”
(3) เสียงสระ อิ ท้ายคำ
เช่น “มุนิ” อ่านว่า มุ-นิ พยัญชนะตัวท้ายคือ น
: –น + อิ = –นิ คำว่า “มุนิ” จึงเป็น “อิ-การันต์”
(4) เสียงสระ อี ท้ายคำ
เช่น “เสฏฺฐี” อ่านว่า เสด-ถี พยัญชนะตัวท้ายคือ ฐ
: –ฐ + อี = –ฐี คำว่า “เสฏฺฐี” จึงเป็น “อี-การันต์”
(5) เสียงสระ อุ ท้ายคำ
เช่น “ครุ” อ่านว่า คะ-รุ พยัญชนะตัวท้ายคือ ร
: –ร + อุ = –รุ คำว่า “ครุ” จึงเป็น “อุ-การันต์”
(6) เสียงสระ อู ท้ายคำ
เช่น “วิญฺญู” อ่านว่า วิน-ยู พยัญชนะตัวท้ายคือ ญ
: –ญ + อู = –ญู คำว่า “วิญฺญู” จึงเป็น “อู-การันต์”
ภาษาไทยเอาคำว่า “การนฺต” ในบาลีมาใช้เป็น “การันต์” (กา-รัน) แต่ใช้ในความหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากบาลี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“การันต์ : (คำนาม) “ที่สุดอักษร”, ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกํากับไว้ เช่นตัว “ต์” ในคําว่า “การันต์”, (ปาก) เรียกตัวอักษรที่มีไม้ทัณฑฆาตกำกับ เช่น ล์ ว่า ล การันต์ ค์ ว่า ค การันต์.”
พจนานุกรมฯ บอกคำแปลว่า “ที่สุดตัวอักษร” อันเป็นคำแปลที่ถูกต้อง แต่ความหมายต่างๆ ที่อธิบายต่อมาไม่ใช่ความหมายของ “การนฺต” ในบาลี
แม้ “การ” จะหมายถึง ตัวอักษร แต่ทุกครั้งที่เราเห็น อ่าน หรือเขียนคำว่า “การันต์” เชื่อได้เลยว่า ร้อยทั้งร้อยไม่ได้นึกว่า “การ-” ในคำว่า “การันต์” นั้น คือ “ตัวอักษร”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำบางคำมีความหมายมากกว่าที่เราใช้
: คนบางคนมีอะไรอยู่ข้างในมากกว่าที่เราคิด
#บาลีวันละคำ (3,900)
15-2-66
…………………………….
…………………………….