บาลีวันละคำ

เทวี – เวที (บาลีวันละคำ 3,901)

เทวี – เวที

กีฬาของภาษาบาลี

“เทวี” กับ “เวที” จับคู่กัน ก็จะเห็นว่า ภาษาบาลีก็ “เล่นคำ” ได้

คงตำแหน่งสระ เอ-อี ไว้ แต่สลับอักษร “เทวี” ก็กลาย “เวที” แต่ความหมายต่างกัน

(๑) “เทวี”

อ่านว่า เท-วี รากศัพท์มาจาก เทว + อี ปัจจัย

(ก) “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

ในภาษาบาลีนิยมใช้คำว่า “เทว” เป็นคำอาลปนะ (addressing = คำทัก, คำร้องเรียก) เมื่อพูดกับพระราชา ในภาษาไทยนักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “ข้าแต่สมมุติเทพ”

(ข) เทว + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: เทว + อี = เทวี

“เทวี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เทพธิดา (goddess)

(2) พระราชินี (queen)

“เทวี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เทวี : (คำนาม) เทวดาผู้หญิง, นางพญา, นางกษัตริย์. (ป.).”

ถ้าแผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย “เทวี” ก็เป็น “เทพี” ในภาษาไทยมีความหมายต่างออกไปจาก “เทวี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เทพี ๑ : (คำนาม) เทวี, เรียกหญิงที่ทําหน้าที่โปรยพืชพรรณธัญญาหารในพิธีแรกนาว่า นางเทพี, หญิงที่ชนะประกวดความงาม เช่น เทพีสงกรานต์.”

(๒) “เวที”

อ่านว่า เว-ที บาลีเป็น “เวที” (เป็น “เวทิ” (เว-ทิ) ก็มี) มีรากศัพท์ดังนี้ –

(1) วิทฺ (ธาตุ = ได้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณ = วิทณ > วิท > เวท + อี = เวที แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่ที่ได้ชื่อเช่นนั้น” (คือได้ชื่อตามตัวว่า เวที) (2) “ที่เป็นที่ได้ลาภสักการะ”

“เวที” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง ไพรที, แท่น, ที่บูชา (ledge, cornice, rail)

(2) วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ ที่ ณี (ณี > อี), แผลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวทฺ)

: วิทฺ + ณี = วิทณี > (วิท + อี = ) วิที > เวที แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีความรู้” (2) “ผู้ทำให้ปรากฏ” (3) “ผู้ประกาศ” หมายถึง ฉลาด, มีปัญญา, รอบรู้, สันทัด (clever, wise, knowing, skilled in)

“ผู้มีความรู้” หมายถึง ผู้รู้, นักปราชญ์, คนมีความเชี่ยวชาญทางใดทางหนึ่ง เช่นในคำว่า –

– “ธมฺมเวที” (ทำ-มะ-เว-ที) = ผู้รู้ธรรม

– “กูฏเวที” (กู-ตะ-เว-ที) = ผู้เชี่ยวชาญการโกง

อรรถกถาชนสันธชาดก ขยายความคำว่า กูฏเวที ว่าหมายถึง ผู้รู้จักการโกง คือโกงชาวบ้านบ้าง ก่อความเสียหายให้แก่สังคมบ้าง โกงการชั่ง (คือโกงน้ำหนักหรือปริมาณสินค้า) บ้าง โกงในการพิจารณาคดีบ้าง

“ผู้ทำให้ปรากฎ” หรือ“ผู้ประกาศ” หมายถึง ผู้ทำให้คนอื่นรับรู้, ผู้ตอบแทนบุญคุณ เช่นในคำว่า –

– “กตเวที” (กะ-ตะ-เว-ที) = ผู้ประกาศอุปการะที่ท่านทำแล้ว เป็นคำที่พูดคู่กับคำว่า “กตญฺญู” = กตัญญูกตเวที

กตัญญู : ตนเองรู้

กตเวที : ประกาศให้คนอื่นรู้ด้วย (บางคนตนเองรู้ แต่ไม่บอกให้คนอื่นรู้ด้วยว่าใครมีพระคุณต่อตน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เวที” ไว้ 2 คำ บอกไว้ว่า –

(1) เวทิ, เวที ๑ : (คำนาม) ที่ที่ยกขึ้นให้สูงใช้เป็นที่ทําการสักการบูชา, แท่นบูชา; ยกพื้นสําหรับเล่นละครและอื่น ๆ เช่น เวทีละคร เวทีมวย. (ป., ส.).

(2) เวที ๒ : (คำนาม) ผู้รู้, นักปราชญ์. (ป.; ส. เวทินฺ).

…………..

“เทวี” กับ “เวที” ว่าโดยความหมายก็เป็นคำธรรมดา พูดขึ้นมาก็เข้าใจกันได้ทั่วไป

ผู้เขียนบาลีวันละคำเพียงแต่จับมาพูดคู่กันเพื่อให้เห็นว่า ถ้าอยากจะหาแง่มุมเบาๆ สนุกๆ และได้ความรู้ด้วย ภาษาบาลีก็มีให้ “เล่น” ได้เหมือนกัน

ญาติมิตรที่อ่านอาจนึกถึงคำคู่อื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ได้อีก-ลองฝึกสมองดูเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เปลี่ยนคำง่ายเพียงใด

: เปลี่ยนใจง่ายเพียงนั้น

#บาลีวันละคำ (3,901)

16-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *