อภัยโทษ (บาลีวันละคำ 545)
อภัยโทษ
(บาลีไทย)
อ่านว่า อะ-ไพ-ยะ-โทด
เทียบบาลีเป็น “อภยโทส” อ่านว่า อะ-พะ-ยะ-โท-สะ
(ไม่มีศัพท์ควบเช่นนี้ในบาลี)
“อภัย” บาลีเป็น “อภย” (อะ-พะ-ยะ) มาจากการประสมระหว่าง น (= ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + ภย (= ความกลัว, ความตกใจกลัว, ความหวาดหวั่น)
กฎการประสมของ น + :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “ภย” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ : น > อ + ภย = อภย
“อภย” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ปลอดจากความกลัวหรืออันตราย, ไม่มีความกลัว, ปลอดภัย (free from fear or danger, fearless, safe)
“โทส” ภาษาไทยเขียนเป็น “โทษ” (ษ ฤๅษี สะกด) มีความหมายว่า ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, ความบกพร่อง, ข้อพกพร่อง, ข้อควรตำหนิ, ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม, ความเสียหาย, ความผิดพลาด
ภาษาไทย เอา “อภัย” กับ “โทษ” มาประสมกัน เป็น “อภัยโทษ” พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “ยกโทษหรือเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาหรือลดโทษให้แก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ต้องรับโทษทางอาญาเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ”
“อภัยโทษ” เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ในภาษาพูดทั่วไปอาจใช้พูดกันเพลินไปโดยไม่ทันคิด เช่น “เมื่อเธอขออภัย ฉันก็อภัยโทษให้”
อภัย :
ควรให้ได้ทุกเวลา
แต่ขอไม่ได้ทุกเวลา
———————
(Mable Jikseo – ขอมา)
12-11-56