บาลีวันละคำ

อรัญวาสี (บาลีวันละคำ 3,905)

อรัญวาสี

อรัญ = ป่า

วาสี = มีด

อรัญวาสี = มีดถางป่า

บาลีของผู้มีจินตนาการบรรเจิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินผู้มีจินตนาการบรรเจิดแปลคำบาลีดังที่ยกเป็นคำตั้งข้างต้นแล้วเกิดความรู้สึกแบบที่เรียกว่า “ขำเครียด” คือขำปนเครียดหรือเครียดปนขำ 

แต่ไม่ว่าจะแปลสนุกเล่นหรือแปลโดยซื่อ ก็ขอถือโอกาสนำมาเขียนเผยแพร่ความรู้

(๑) “อรัญ” 

รูปคำบาลีเป็น “อรญฺญ” อ่านว่า อะ-รัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย

: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน

(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ซ้อน ญฺ

: อรฺ + ญฺ + = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน

(3) (ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง เป็น , รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ 

: + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา

อรญฺญ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ป่า (forest)

บาลี “อรญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อรัญ” และใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อรัณย์” ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อรัญ, อรัญ– : (คำนาม) ป่า. (ป. อรญฺญ; ส. อรณฺย).

(2) อรัณย์ : (คำนาม) ป่า. (ส. อรณฺย; ป. อรญฺญ).

(๒) “วาสี

อ่านว่า วา-สี รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก; ชอบใจ; ตัด) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)” (2) “สิ่งเป็นเครื่องตัด” 

ความหมาย :

(1) คำแปลที่ว่า “ผู้มีปรกติอยู่-(ในที่ใดที่หนึ่ง)”เป็นปุงลิงค์ หมายถึง ชอบ, อาศัยอยู่ [ใน] (liking, dwelling [in])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาสิน, วาสี ๑ : (คำนาม) ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า. (ป., ส.).”

(2) คำแปลที่ว่า “สิ่งเป็นเครื่องตัด” เป็นอิตถีลิงค์ หมายถึง –

(๑) มีด, ขวาน, ผึ่งถากไม้ (a sharp knife, axe, hatchet, adze) 

(๒) มีดโกน (a razor) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วาสี ๒ : (คำนาม) มีด, พร้า. (ป., ส.).”

สรุปว่า “วาสี” แปลได้ 2 อย่าง คือ (1) ผู้อยู่ (ในที่ใดที่หนึ่ง) (2) มีด

อรัญ + วาสี = อรัญวาสี (อะ-รัน-ยะ-วา-สี) แปลว่าอะไร?

เมื่อ “วาสี” แปลได้ 2 อย่าง “อรัญวาสี” ก็น่าจะแปลได้ 2 อย่างเหมือนกัน คือ –

อรัญวาสี” แปลว่า “ผู้อยู่ป่า” 

อรัญวาสี” แปลว่า “มีดถางป่า” 

แต่ภาษาบาลีจะดูกันแค่รูปศัพท์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูข้อความแวดล้อมที่เรียกว่า “บริบท” ด้วย แต่ที่สำคัญต้องตรวจสอบดูด้วยว่าคำที่แปลเช่นนั้นมีใช้ในคัมภีร์หรือหนังสือตำราใดๆ หรือเปล่า

เมื่อตรวจสอบดูแล้ว “อรัญวาสี” (รูปคำบาลีเป็น “อรญฺญวาสี”) ที่แปลว่า “ผู้อยู่ป่า” มีใช้ในคัมภีร์ แต่ที่แปลว่า “มีดถางป่า” ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรัญวาสี : (คำนาม) ผู้อยู่ในป่า, ใช้สำหรับเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คู่กับ คามวาสี คณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ. (ป. อรญฺญวาสี).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อรัญวาสี” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

อรัญวาสี : “ผู้อยู่ป่า”, พระป่า หมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในป่า, เป็นคู่กับ คามวาสี หรือพระบ้าน ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่อยู่วัดในบ้านในเมือง …

การแบ่งพระสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย คือ คามวาสี และอรัญวาสี เกิดขึ้นในลังกาทวีป และปรากฏชัดเจนในรัชกาลพระเจ้าปรักกมพาหุ ที่ ๑ มหาราช (พ.ศ. ๑๖๙๖ –๑๗๒๙) ต่อมา เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงรับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ลังกาวงศ์ อันสืบเนื่องจากสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุนี้เข้ามาในช่วงใกล้ พ.ศ.๑๘๒๐ ระบบพระสงฆ์ ๒ แบบ คือ คามวาสี และอรัญวาสี ก็มาจากศรีลังกาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย; คู่กับ คามวาสี

…………..

เมื่ออธิบายให้ผู้ที่แปล “อรัญวาสี” ว่า “มีดถางป่า” ฟังว่า “อรัญวาสี” ไม่ได้แปลว่า “มีดถางป่า” แต่แปลว่า “ผู้อยู่ป่า” หรือพระป่า คือพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อยู่ป่าเพื่อปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้กิเลสหมดไปจากจิตใจ 

ท่านผู้แปล “อรัญวาสี” ว่า “มีดถางป่า” ก็ตอบกลับมาว่า นั่นแหละๆ กิเลสก็เหมือนป่า ปฏิบัติขจัดกิเลสก็คือถางป่า “อรัญวาสี” แปลว่า “มีดถางป่า” เป็นคำแปลที่ถูกต้องตามสภาวะแล้ว!

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงท่านเจ้าสำนักแห่งหนึ่ง ท่านแปลคำว่า “อุโปสถ” (คืออุโบสถศีล) ว่า “ใกล้ความเป็นยา” คือท่านแยกศัพท์ว่า –

อุป = ใกล้ 

โอสถ = ยา 

อุป + โอสถ = อุโปสถ = ใกล้ความเป็นยา 

โดยอธิบายว่า อุโบสถศีลทั้ง 8 ข้อ เปรียบเหมือนยารักษาโรคคือกิเลสให้เบาบาง อุโบสถศีลจึงเป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใกล้ความเป็นยา หรือเป็นเหมือนยารักษาโรค

โปรดทราบว่า ในภาษาบาลี คำว่า “อุโปสถ” (อุโบสถ) ไม่มีคำว่า “โอสถ” ที่แปลว่า ยา อยู่ในคำนี้แต่ประการใดทั้งสิ้น

การแปลคำว่า “อรัญวาสี” ว่า “มีดถางป่า” ก็ดี แปลคำว่า “อุโปสถ” (อุโบสถ) ว่า “ใกล้ความเป็นยา” ก็ดี เป็นตัวอย่างแห่งจินตนาการบรรเจิดของท่านผู้ที่ดูเหมือนจะรู้ภาษาบาลีดีมากๆ เกินคัมภีร์

แถม :

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า พระไตรปิฎก ผู้ประสงค์จะเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำในภาษาบาลี (ซึ่งก็คือเข้าใจความหมายในคำสอนของพระพุทธศาสนา) ที่ถูกต้อง พึงศึกษาตรวจสอบคำอธิบายขยายความที่ผู้รู้พระไตรปิฎกอธิบายสืบๆ กันมาที่เรียกว่า อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา อาจริยมติ ไล่เรียงกันมาเป็นลำดับ จะใช้วิธีจินตนาการความหมายเอาเองย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มาก 

เมื่อได้ศึกษาตรวจสอบรอบถ้วนแล้ว ต่อจากนั้นตนเองมีความเห็นอย่างไรก็สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี มิได้มีใครปิดกั้นหรือบังคับให้ต้องเชื่อตามที่ท่านอธิบายกันมานั้นแต่ประการใดเลย

เวลานี้ ผู้ไม่ศึกษาหลักเดิม แต่แสดงหลักใหม่ของตนขึ้นมาทันทีมีมากขึ้น และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ

เวลาฟังความเห็นของท่านเหล่านี้ จึงไม่ควรฟังเปล่าหรือฟังปล่อย แต่ควรช่วยกันคิดหาวิธีว่า จะแก้ไขป้องกันความวิปริตผิดเพี้ยนได้อย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แค่รู้จักยอมรับว่าเข้าใจผิด

: โอกาสเป็นบัณฑิตก็เปิดทันที

#บาลีวันละคำ (3,905)

20-2-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *