บาลีวันละคำ

อหึสโก (บาลีวันละคำ 3,906)

อหึสโก

อหึสโก

อ่านว่า อะ-หิง-สะ-โก

ไม่ใช่ อะ-หึ-สะ-โก

ทำไมจึงไม่ใช่ อะ-หึ-สะ-โก?

“อหึสโก” รูปคำเดิมเป็น “อหึสก” อ่านว่า อะ-หิง-สะ-กะ ประกอบขึ้นจาก น + หึสก

(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “หึสก” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ห- จึงแปลง น เป็น อ

(๒) “หึสก”

อ่านว่า หิง-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน), แปลง หนฺ เป็น หึสฺ + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: หนฺ > หึสฺ + ณฺวุ > อก : หึสฺ + อก = หึสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียน”

: น + หึสก = นหึสก > อหึสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน” หมายถึง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น, ไม่มีอันตราย, มีเมตตากรุณา (not injuring others, harmless, humane)

“อหึสก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อหึสโก” อ่านว่า อะ-หิง-สะ-โก

หลักภาษาบาลี :

สระในบาลีที่เขียนเหมือนสระ อึ ในภาษาไทยนั้น คือสระ อิ + นิคหิต

“นิคหิต” คือเครื่องหมายวงกลมเขียนไว้บนพยัญชนะ บางคนเรียกเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “จุดบน” (คู่กับ “จุดล่าง” คือเครื่องหมายพินทุ เขียนไว้ใต้พยัญชนะ ทำให้พยัญชนะตัวนั้นเป็นตัวสะกด ถ้าเป็นพยัญชนะตัวแรกของคำ ทำให้พยัญชนะตัวนั้นออกเสียงกึ่งเสียง)

ความจริง “นิคหิต” ไม่ใช่ “จุด” แต่เป็นวงกลมเล็ก

กฎการออกเสียงพยัญชนะที่มีนิคหิตอยู่ข้างบน มีดังนี้ –

(1) กรณีปกติ ออกเสียงเท่ากับเสียงพยัญชนะตัวนั้น + อัง เช่น –

สํ = ส + อัง อ่านว่า สัง

นํ = น + อัง อ่านว่า นัง

มํ = ม + อัง อ่านว่า มัง

(2) กรณีที่พยัญชนะตัวนั้นมีสระ อิ กำกับอยู่ และมีนิคหิตด้วย สระ อิ มีค่าเท่ากับ + ง : อิ + ง = อิง

ในภาษาไทยอนุโลมใช้สระ อึ เพื่อความสะดวก แต่พึงทราบว่านั่นไม่ใช่สระ อึ หากแต่คือ สระ อิ + นิคหิต หรือ อิ + ง = อิง เช่น –

“หึ” สระบน ห ไม่ใช่สระ อึ แต่คือสระ อิ + นิคหิต หรือ อิ + ง ดังนั้น หึ จึงเท่ากับ หิ + ง อ่านว่า หิง ไม่ใช่ หึ อย่างเสียงหัวเราะหึๆ ในภาษาไทย

คำที่เราคุ้นหู เช่น “อหึสก” อ่านว่า อะ-หิง-สะ-กะ ไม่ใช่ อะ-หึ-สะ-กะ

(3) กรณีที่พยัญชนะตัวนั้นมีสระ อุ กำกับอยู่ (มีสระ อุ อยู่ข้างใต้) และมีนิคหิตอยู่ข้างบนด้วย สระ อุ มีค่าเท่ากับ + ง : อุ + ง = อุง เช่น –

“พาหุํ” อ่านว่า พา-หุง

ขยายความ :

หลักภาษาบาลีที่อธิบายข้างต้นคงเป็นคำตอบได้ว่า “อหึสโก” ทำไมจึงไม่อ่านว่า อะ-หึ-สะ-โก (ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินผู้ประกาศทางสถานีวิทยุแห่งหนึ่งอ่านคำนี้ว่า อะ-หึ-สะ-โก จริงๆ!)

“อหึสก” ที่เปลี่ยนรูปเป็น “อหึสโก” ก็คือที่ใช้เป็น “นามฉายา” ของพระภิกษุเป็นต้น ถ้าเป็นรูปคำธรรมดาก็เขียนเป็น “อหึสก” เขียนแบบไทยเป็น “อหิงสกะ” เมื่อเขียนแบบไทยก็อ่านง่าย คืออ่านว่า อะ-หิง-สะ-กะ

“อหิงสกะ” ที่คนไทยน่าจะคุ้นกันดีก็คือ “อหิงสกะ” ที่เป็นชื่อเดิมของพระองคุลิมาล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปเรื่อง “องคุลิมาล” ไว้ดังนี้ –

…………..

องคุลิมาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน”) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่า “มีนิ้วเป็นพวงมาลัย”) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อดี ดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่ดีอีกครึ่งเจ้าของชื่อต้องทำเอง

#บาลีวันละคำ (3,906)

21-02-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *