แก่นจันทน์ (บาลีวันละคำ 3,907)
แก่นจันทน์
ไม่ใช่ แก่นจันทร์
แก่นจันทร์ ผิด
แก่นจันทน์ ถูก
แก่นจันทน์
แก่นจันทน์
(๑) “จันทน์”
บาลีเป็น “จนฺทน” (จัน-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (จทิ > จํทิ > จนฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ (จ)-ทิ (จทิ > จท)
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + ยุ > อน : จนฺท + อน = จนฺทน (ปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ยังสัตว์โลกให้พอใจ” หมายถึง ต้นจันทน์, ไม้จันทน์หรือน้ำมันจันทน์ หรือเครื่องหอมกลิ่นจันทน์ (sandal [tree, wood or unguent, also perfume])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จันทน์ : (คำนาม) ชื่อพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผลหอม ใช้ทํายาและปรุงเครื่องหอม. (ป., ส.).”
(๒) “จันทร”
บาลีเป็น “จนฺท” (จัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ลบสระที่สุดธาตุ
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + อ = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)
(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ก ปัจจัย, ลบ ก, แปลง ฉ เป็น จ
: ฉนฺท + ก = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด”
“จนฺท” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”
บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ) ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“จันทร-, จันทร์ : [จันทฺระ-] ในกลอนบางทีอ่านเป็น [จันทอน, จัน] (คำนาม) ดวงเดือน, เรียกเทวดาองค์หนึ่งในนิยายว่า พระจันทร์, ในตำราโหราศาสตร์เป็นชื่อดาวพระเคราะห์ที่ ๒; ชื่อวันที่ ๒ ของสัปดาห์. (ส.).”
ขยายความ :
บาลี 2 คำนี้ ในภาษาไทยมักเขียนผิด เราคุ้นกับ “จันทร์เดือน” หรือ จัน-ทะ-ระ มากกว่า “จันทน์ไม้หอม” หรือ จัน-ทะ-นะ คำที่ควรจะเขียนเป็น จัน-ทะ-นะ จึงมักเขียนผิด เป็น จัน-ทะ-ระ เช่น
– “ดอกไม้จันทน์” เป็น “ดอกไม้จันทร์”
– “แก่นจันทน์” เป็น “แก่นจันทร์”
– “เวียงจันทน์” เป็น “เวียงจันทร์”
เครื่องช่วยจำ : จัน-ไม้ ใช้ “จัน-ทน” … จัน-เบื้องบน ใช้ “จัน-ทร”
…………..
เมื่อพูดถึง “แก่น” เราหมายถึงอะไรของอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “แก่น” ไว้ว่า
“แก่น : (คำนาม) เนื้อไม้แข็งและมีสีเข้ม อยู่ถัดกระพี้เข้าไป, เนื้อแท้, หลักสําคัญ เช่น แก่นพระศาสนา. (คำวิเศษณ์) ดื้อรั้นซุกซนไม่เกรงกลัวใคร.”
เมื่อพูดถึง “แก่น” เราหมายถึง “เนื้อไม้แข็ง” เป็นอันตอบคำถามไปในตัวว่า แก่นของอะไร คือ แก่นของไม้
แล้ว “จัน-” ไหนที่เป็น “ไม้” – “จันทน์” หรือ “จันทร์”?
“จันทน์” = ไม้
“จันทร์” = เดือน
ไม้ มีแก่น
เดือน ไม่มีแก่น
เพราะฉะนั้น:-
“แก่นจันทน์” จึงถูก
“แก่นจันทร์” จึงผิด
เวลาจะเขียนคำอะไร ถ้าหัดคิดนึกตรึกตรองเป็นขั้นตอนแบบนี้ ก็จะรู้เหตุผล แล้วก็จะเขียนไม่ผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
อะไรเป็นแก่นสารของชีวิต
: ชี้ให้ดูได้
: แต่เห็นแทนกันไม่ได้
#บาลีวันละคำ (3,907)
22-2-66
…………………………….
…………………………….