บาลีวันละคำ

อุปทาน กับ อุปาทาน (บาลีวันละคำ 3,909)

อุปทาน กับ อุปาทาน

ถ้าไม่มองผ่านก็จะเห็นว่าต่างกัน

(๑) “อุปทาน”

ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปะ-ทาน หรือ อุบ-ปะ-ทาน บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค =เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อุป + ทา = อุปทา + ยุ > อน = อุปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปให้” (ผู้ที่จะรับอยู่ที่ไหน ก็เข้าไปที่นั่น แล้วให้ คือการนำไปให้จนถึงที่) หรือ “การมอบให้” หมายถึง ให้, มอบให้ (giving, bestowing)

คำว่า “อุปทาน” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า supply คู่กับ “อุปสงค์” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า demand

“อุปสงค์” = demand หมายถึงความต้องการปัจจัยเครื่องดำรงชีพ หรือความต้องการสิ่งใดๆ ก็ตาม

“อุปทาน” = supply หมายถึงความสามารถที่จะตอบสนอง demand หรือ “อุปสงค์” ได้มากน้อยเพียงไร

พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า supply and demand บอกความหมายไว้ว่า – “ของที่มีขาย กับความต้องการของประชาชน”

คำว่า “อุปทาน” ที่มีความหมายตรงกับ supply ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี

คำว่า “อุปทาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(๒) “อุปาทาน”

ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ทาน หรือ อุบ-ปา-ทาน บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลงเป็น อน (อะ-นะ)

หลักภาษา : อา คำอุปสรรคปกติใช้นำหน้าธาตุ มีความหมายหลายอย่างคือ ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “กลับความ” คือนำหน้าธาตุตัวใด ทำให้ความหมายของธาตุตัวนั้นกลายเป็นตรงกันข้าม

ในที่นี้ “ทา” ธาตุ มีความหมายว่า “ให้”

เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาทา” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ให้” กลายเป็น “เอา” (รับเอา, คว้าเอา, ยึดเอา)

: อุป + อา + ทา = อุปาทา + ยุ > อน = อุปาทาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเข้าไปยึดเอา” (สิ่งที่จะยึดเอาอยู่ที่ไหน จิตก็เข้าไปที่นั่นแล้วยึดติดอยู่) (2) “สิ่งที่ไฟจับเอา”

“อุปาทาน” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 นัย คือ –

(1) อาศัย, ยึด, ยึดมั่น, ถือมั่น, เครื่องเกาะ, อุปาทาน (drawing upon, grasping, holding on, grip, attachment)

(2) เชื้อ, เสบียง, อาหาร (fuel, supply, provision)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อุปาทาน : (คำนาม) การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

“อุปาทาน : ความถือมั่น, ความยึดติดถือค้างถือคาไว้ (ปัจจุบันมักแปลกันว่า ความยึดมั่น) ไม่ปล่อยไม่วางตามควรแก่เหตุผล เนื่องจากติดใคร่ชอบใจหรือใฝ่ปรารถนาอย่างแรง.”

เปรียบเทียบ :

: อุป + ทาน = อุปทาน (supply)

: อุป + อา + ทาน = อุปาทาน (attachment)

ถ้าใช้ว่า “อุปทาน” หมายถึงความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการ เป็นคำที่คู่กับ “อุปสงค์”

ถ้าจะหมายถึง “การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” ต้องใช้คำว่า “อุปาทาน” (-ปา- สระ อา)

“อุปทาน” (supply) เป็นศัพท์วิชาการเศรษฐศาสตร์ นานๆ จึงจะมีใช้

ส่วนที่มักพูดกันทั่วไปคือ “อุปาทาน” (attachment) ความยึดมั่นถือมั่น

ปรับทุกข์ :

เป็นที่น่าประหลาดอย่างยิ่งที่คนทั้งหลายเมื่อจะพูดคำที่หมายถึง “ยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” แทนที่จะพูดว่า “อุปาทาน” (attachment) ก็กลับพูดว่า “อุปทาน” (supply)

พูดก็ยังพอว่า เพราะเสียงคล้ายกัน แต่แม้จะเขียนเป็นอักษรก็ยังอุตส่าห์สะกดเป็น “อุปทาน” อยู่นั่นเอง

โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายมักจะเขียนผิดมาก คนทั้งหลายก็เขียนตามสื่อ แล้วก็พากันเขียนผิดกันอยู่ทั่วไปโดยไม่เฉลียวใจ

ครั้นทักท้วงเข้า ก็มีผู้ออกรับแทนว่า ก็คนทั่วไปเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เรียน จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษคนที่เรียนมา คนที่เรียนมานั่นแหละจะต้องบอกเขา เป็นความผิดของคนที่เรียนมา ไม่ใช่ความผิดของคนที่พูดผิดเขียนผิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนคำว่า “อุปาทาน” “อุปทาน – อุปสงค์” มาหลายครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย เขียนซ้ำซากมาหลายครั้ง บอกซ้ำซากมาหลายคราว

คนไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่สนใจ ไม่รับรู้ เขียนผิดเหมือนเดิม ก็ไม่มีความผิดอะไรเพราะมีผู้ออกมรับรองแล้วว่าไม่ใช่ความผิดของคนเขียนผิด แต่เป็นความผิดของคนบอก แม้บอกมาหลายครั้งแล้วก็ยังไม่พ้นผิด

ยังมีคนเขียนผิดอยู่ตราบใด

ก็ยังเป็นความผิดของคนบอกอยู่ตราบนั้น

อุปมาเหมือนบ้านเมืองมีขโมยชุม

ไม่ใช่ความผิดของขโมย

แต่เป็นความผิดของตำรวจ

ปัญหาเรื่องใช้ภาษาไม่ถูกต้องนี้ ข้อเท็จจริงไม่ได้เกิดจาก “ความไม่รู้” อย่างที่อ้าง หากแต่เกิดจาก “ความไม่ใฝ่รู้” (ใครอยากบอกก็บอกไป ฉันมีสิทธิ์ที่จะไม่รับรู้ ใครจะทำไม) ประกอบกับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญนั่นเอง

หลายคนบอกว่า ชาติบ้านเมืองมีปัญหาที่สำคัญกว่านี้อีกตั้งมากมาย จะมาเอาอะไรกันนักหนากับเรื่องภาษา หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง ไร้สาระ

คนที่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศแนะนำว่า เมื่ออยู่ต่างประเทศ บนถนนที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นคนไทย วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ได้ผลแน่นอนที่สุดก็คือ ให้พูดภาษาไทยออกมาดังๆ ถ้าแถวนั้นมีคนไทย เขาจะแสดงตัวออกมาทันที

นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ภาษาเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นชาติ

ปัจจุบันนี้ ในแผนที่โลกไม่มีแผ่นดินที่เป็นประเทศมอญอีกแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่โลกก็รับรู้ว่ายังมีชาติมอญอยู่ในโลกนี้ เพราะคนมอญในเมืองไทยเขายังพูดภาษามอญกันอยู่

แม้เราจะรักษาแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยไว้ได้ แต่เมื่อใดที่ภาษาไทยวิบัติวินาศ เมื่อนั้นก็จะไม่มีชาติไทยเหลือไว้ให้ใครรู้จักอีกต่อไป

ความวิบัติวินาศของชาติเริ่มมาจากการไม่เห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติ

ความวิบัติวินาศของภาษาประจำชาติก็เริ่มมาจากความคิดที่ว่า “หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง ไร้สาระ” นี่แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูรั่วเล็กๆ

: ทำให้เรือลำใหญ่ๆ จมได้

#บาลีวันละคำ (3,909)

24-02-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *