บาลีวันละคำ

สังคญาติ [2] (บาลีวันละคำ 4,205)

สังคญาติ [2]

บาลีแบบไทย

อ่านว่า สัง-คะ-ยาด

คำว่า “สังคญาติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังคญาติ” : (ภาษาปาก) (คำนาม) บรรดาญาติ, ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติกัน, เช่น คนทั้งหมู่บ้านล้วนเป็นสังคญาติกันทั้งนั้น.”

ตามปกติ คำในพจนานุกรมฯ ถ้ามาจากบาลีหรือสันสกฤต พจนานุกรมฯ จะบอกไว้ในวงเล็บ มาจากบาลีจะบอกว่า “ป.” มาจากสันสกฤตจะบอกว่า “ส.” แต่คำว่า “สังคญาติ” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร

คำว่า “ญาติ” นั้นมาจากบาลีแน่นอน แต่ “สังค” เป็นภาษาอะไร? ถ้าเป็นบาลีหรือสังสกฤต ไฉนพจนานุกรมฯ จึงไม่ระบุลงไปว่า “สังคญาติ” มาจากบาลีสันสกฤต

ในบาลีมีคำว่า “สงฺค” เขียนแบบไทยก็จะเป็น “สังค” 

ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า “สังคญาติ” มาจากคำบาลี ประกอบด้วยคำว่า สังค + ญาติ

(๑) “สังค

สังค” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺค” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สชฺ (ธาตุ = เกี่ยวข้อง) + ปัจจัย, ลบ , ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น งฺ, แปลง ที่สุดธาตุเป็น (สชฺ > สค)

: สชฺ > สํชฺ > สงฺชฺ + = สงฺชณ > สงฺช > สงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิเลสเป็นเครื่องข้อง” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺค” ว่า cleaving, clinging, attachment, bond (การยึดถือหรือเกาะติด, ตัณหา, การผูกมัด)

คัมภีร์มหานิทเทส ขุทกนิกาย (พระไตรปิฎกเล่ม 29 ช้อ 125) แสดงกิเลสที่เป็น “สงฺค” ไว้ 7 อย่าง คือ –

(1) ราคสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือราคะ (ความกำหนัด)

(2) โทสสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือโทสะ (ความขัดเคือง)

(3) โมหสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือโมหะ (ความหลงไม่รู้จริง) 

(4) มานสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือมานะ (ความถือตัว) 

(5) ทิฏฺฐิสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

(6) กิเลสสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือกิเลส (ความเศร้าหมองทางใจ)

(7) ทุจฺจริตสงฺค เครื่องเกี่ยวข้องคือทุจริต (ความประพฤติผิด)

บาลี “สงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังค-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สังค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สังค-, สังค์ : (คำนาม) ความข้องอยู่, การติดอยู่. (ป.; ส. สํค).”

(๒) “ญาติ” 

บาลีอ่านว่า ยา-ติ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: ญา + ติ = ญาติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ญาติ” ว่า a relation, relative (ญาติ, พี่น้อง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาติ, ญาติ– : (คำนาม) คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).”

ท่านว่า “ญาติ” มี 2 ประเภท คือ –

1 คนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด คือ “ญาติสาโลหิต

2 คนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจใช้คำเรียกว่า “ญาติมิตร” 

สังค + ญาติ = สังคญาติ (สัง-คะ-ยาด) เป็นคำสมาสที่เราคิดขึ้นใช้แบบไทย แปลแบบไทยว่า “การเกี่ยวข้องกันในฐานเป็นญาติ” หรือ “เป็นญาติเพราะเกี่ยวข้องกัน

ขยายความ :

สังคญาติ” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “สงฺคญาติ” อ่านว่า สัง-คะ-ยา-ติ ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำเช่นนี้ แต่มีคำว่า “ญาติสงฺค” อ่านว่า ยา-ติ-สัง-คะ แปลว่า “การเกี่ยวข้องกันในฐานเป็นญาติ” ก็คือศัพท์เดียวกับ “สังคญาติ” ของไทยนั่นเอง เพียงแต่สลับที่กัน คือบาลีเอา “สงฺค” ไว้ท้าย แต่ของไทยเอา “สังค” ไว้หน้า

สันนิษฐานแบบเข้าข้างกันก็ต้องบอกว่า ไทยเราถือสิทธิ์เป็นอิสระทางภาษา เอาคำบาลีสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย แต่เปลี่ยนรูป เปลี่ยนคำ เปลี่ยนตำแหน่ง ตลอดจนเปลี่ยนความหมายตามที่เราต้องการ ขอให้สังเกตดูเถิด บาลีสันสกฤตในภาษาไทยเป็นอย่างที่ว่านี้มีอยู่ทั่วไป “สังคญาติ” นี้ก็เป็นคำหนึ่งในจำพวกคำที่เราเปลี่ยนตามใจเรา

ช่วยกันจำเป็นความรู้ว่า คำนี้บาลีเป็น “ญาติสงฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังคญาติ” คำเดียวกัน แต่สลับตำแหน่งกัน

…………..

หมายเหตุ : คำว่า “สังคญาติ” เคยเขียนเป็นบาลีวันละคำมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ “สังคญาติ” บาลีวันละคำ (1,375) 5-3-59 

…………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02t71tEewAiUwX6NrXgukVj4ZQesXZg1neMzmWaphQWAxrMoq3aaV55aDwx35cP9qjl

…………………………….

เอามาเขียนอีกครั้งหนึ่ง คำอธิบายรากศัพท์อาจแตกต่างจากที่เคยอธิบายไว้ ขอให้ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน แต่ครั้งนี้มีรายละเอียดบางอย่างเพิ่มขึ้น ความคิดเห็นบางประเด็นก็อาจแตกต่างจากที่เคยเขียนไว้ ขอให้ถือว่าเป็นการบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเห็นของนักเรียนบาลีคนหนึ่งไปในตัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรู้ทำให้เปลี่ยนความคิด

: ความคิดทำให้เปลี่ยนคน

#บาลีวันละคำ (4,205)

17-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *