บาลีวันละคำ

พฤติกรรม – พฤติการณ์ (บาลีวันละคำ 547)

พฤติกรรม – พฤติการณ์

(บาลีไทย)

อ่านว่า พฺรึด-ติ-กำ / พฺรึด-ติ-กาน

พฤติ” บาลีเป็น “วุตฺติ” (วุด-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นไปได้” หมายถึง การเลี้ยงชีพ, อาชีพ, การเป็นอยู่, การทำมาหากิน, วิธีดำรงอยู่หรือวิธีกระทำ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ธรรมเนียม

ความหมายเด่นที่สุดของ “วุตฺติ” คือ การเลี้ยงชีพ

กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” (ดูเพิ่มเติมที่ “กรรม” บาลีวันละคำ (480) 7-9-56)

การณ์” บาลีเป็น “การณ” (กา-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล” ใช้ในความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, เหตุผล, สาเหตุ, ความจำเป็น (ดูเพิ่มเติมที่ “เหตุการณ์” บาลีวันละคำ (541) 8-11-56)

พฤติกรรม = วุตฺติ + กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “ทำการเลี้ยงชีพ

พฤติการณ์ = วุตฺติ + การณ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุแห่งการเลี้ยงชีพ

ศัพท์ในภาษาบาลีทั้งสองคำนี้ไม่มีที่ใช้ตามความหมายในภาษาไทย

พฤติกรรมพฤติการณ์ เป็นศัพท์บัญญัติทางจิตวิทยา บัญญัติจากคำภาษาอังกฤษว่า behavior (สะกด behaviour ก็มี)

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550 อธิบายขยายความตามความหมายใน พจน.42 ไว้ดังนี้ –

พฤติกรรม หมายถึง การกระทำหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น (1) สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ (2) การศึกษาควรมุ่งสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลด ละ เลิกพฤติกรรมที่สร้างปัญหาให้สังคม

พฤติการณ์ หมายถึง สิ่งที่กระทำ, เหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่จะเป็นไป, ความเป็นไปในเวลากระทำการ เช่นพูดว่า (1) นักการเมืองบางคนมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ (2) พยานที่เห็นเหตุการณ์เล่าถึงพฤติการณ์ของคนร้ายว่า ก่อนหน้านี้ได้ต้มตุ๋นหลอกลวงชาวบ้านหลายรายแล้ว

รู้ รัก ภาษาไทย สรุปว่า –

พฤติกรรม : เน้นที่การกระทำ (ยังไม่เน้นว่าทำอะไร)

พฤติการณ์ : เน้นสิ่งที่กระทำ (ทำอะไร อย่างไร ถูก-ผิด ดี-ชั่ว)

บาลีวันละคำ สรุปว่า –

พฤติกรรม : “ความอยากกิน” ปุถุชนมีเหมือนกันทุกคน

พฤติการณ์ : คนมีสติ > รู้จักเลือกกิน

  : คนเสียสติ > กินไม่เลือก

———————–

(ตามคำขอของ Kanaphon Chanhom)

14-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย