บาลีวันละคำ

สักการบูชา (บาลีวันละคำ 548)

สักการบูชา

(บาลีไทย)

อ่านว่า สัก-กา-ระ-บู-ชา

เทียบบาลีเป็น “สกฺการปูชา” (สัก-กา-ระ-ปู-ชา)

สกฺการ” แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ทำด้วยความเคารพ” ใช้ในความหมายว่า การเคารพ, การนับถือ, เครื่องสักการะ

ในภาษาไทย ถ้ามีคำอื่นมาสมาสต่อท้าย เช่น สักการ + บูชา = สักการบูชา อ่านว่า สัก-กา-ระ-บู-ชา ไม่ประวิสรรชนีย์ที่ –

ถ้า สักการ คำเดียว และต้องการให้อ่านว่า สัก-กา-ระ ต้องประวิสรรชนีย์ที่ –ระ

พจน.42 บอกไว้ว่า

สักการ-, สักการะ : บูชาด้วยสิ่งหรือเครื่องอันพึงบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ บูชา เป็น สักการบูชา

บูชา” (บาลีเป็น “ปูชา” บาลี ปลา, ภาษาไทย ใบไม้) แปลทับศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การนับถือ, การทำพลีกรรม, การแสดงความภักดี, การสนับสนุน, การให้ความสำคัญ, การเห็นคุณค่า (ดูเพิ่มเติมที่ “ปูชา” บาลีวันละคำ (112) 28-8-55)

ในคัมภีร์ไม่พบคำว่า “สกฺการปูชา” แต่มีคำว่า “ปูชาสกฺการ

ในแง่ความหมายเชิงปฏิบัติ ผู้รู้จำแนกการบูชาไว้ 3 อย่าง คือ –

1. “สักการบูชา” (สัก-กา-ระ-) = บูชาด้วยเครื่องสักการะ > สนับสนุนด้วยวัตถุสิ่งของ เงินทอง ทรัพยากรต่างๆ

2. “สัมมานบูชา” (สำ-มา-นะ-, บางทีเสริมคำให้สูงขึ้นไปว่า “อภิสัมมานบูชา”) = บูชาด้วยการนับถือ > สนับสนุนด้วยการเชื่อถือ ปฏิบัติตาม แสดงความเห็นด้วย ให้ความร่วมมือ (บอกให้ทำอะไรก็ทำ)

3. “ปัคคาหบูชา” (ปัก-คา-หะ-) = บูชาด้วยการยกย่อง > สนับสนุนด้วยการแสดงความนิยมชมชอบ เทิดทูน ปกป้อง ส่งเสริม

พุทธภาษิต :

ยตฺถ  อลโส  จ  ทกฺโข  จ

สูโร  ภีรุ  จ  ปูชิยา

น  ตตฺถ  สนฺโต  วสนฺติ

อวิเสสกเร  นเค.

ที่ใด คนทึ่มกับคนเปรื่องปราด

คนขลาดกับคนกล้า

ได้รับการยกย่องบูชาเท่าเทียมกัน

ถูกกับผิดแยกให้แตกต่างกันไม่ได้

ที่นั้นไซร้สัตบุรุษไม่อยู่ด้วย

เนรุชาดก ฉักกนิบาต ๒๗/๘๕๓

————————-

(ตามคำขอของ Anond Metheevarachatra)

15-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย