วิจารณญาณ (บาลีวันละคำ 410)
วิจารณญาณ
(บาลีแบบไทย)
อ่านว่า วิ-จา-ระ-นะ-ยาน
ประกอบด้วย วิจารณ + ญาณ
“วิจารณ” บาลีเป็น “วิจารณา” (วิ-จา-ระ-นา เป็นอิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องสั่งสม” เป็นชื่อหนึ่งของ ปัญญา มีความหมายว่า การสืบสวน, การตรวจสอบ, การแสวงหา, การเอาใจใส่, การจัดแจง, การวางแผน, การดูแล
“ญาณ” (ยา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือช่วยรู้” “รู้สิ่งที่ควรรู้” หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ
“วิจารณา” มีในบาลี “ญาณ” ก็มีในบาลี แต่ “วิจารณญาณ” เป็นคำผสมแบบบาลีไทย ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี
วิจารณา เราลดเสียงเป็น วิจารณ + ญาณ = วิจารณญาณ ในภาษาไทยมีความหมายว่า “ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้องได้” (พจน.42)
เมื่อรู้เห็นเรื่องราวอะไรก็ตาม สามารถแยกแยะ วินิจฉัย ตัดสินได้ว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร นั่นคือมีวิจารณญาณ
ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรดีชั่วถูกผิดควรไม่ควร นั่นคือยังไม่มี-หรือยังขาดวิจารณญาณ
วิจารณญาณ เป็นสิ่งที่ต้องอบรม บ่มเพาะ ปลูกฝัง สั่งสอน
วิจารณญาณ ต้องนำไปสู่การตัดสินใจทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ อย่างถูกต้อง
ปริศนาที่ต้องใช้วิจารณญาณ :
คนหนึ่ง ฉลาด ทำผิดโดยไม่ให้ใครรู้ ถึงรู้ก็เอาผิดไม่ได้
คนหนึ่ง รู้ทุกอย่างว่าอะไรผิดถูกชั่วดีควรไม่ควร แต่ชั่วไม่มี ดีก็ไม่ทำ
คนหนึ่ง โง่ๆ เซ่อๆ เขาบอกให้เว้นชั่ว ก็เว้น บอกให้ทำดี ก็อุตส่าห์ทำ
คนไหนมีวิจารณญาณ ?
หรือว่าน่าจะมีอีกคนหนึ่ง ?
————————
(เนื่องมาจากคำปรารภของ ผจญ จอจาน)
บาลีวันละคำ (410)
29-6-56
แนวคิดนอกเฟรม
ถ้ามีแต่วิจารณญาณ แต่ไม่ใช้วิจารณญาณเป็นฐานของการตัดสินใจ ก็เหมือนไม้ผลที่งาม แต่ไม่ออกผล
วิจารณญาณ (ผจญ จอจาน ๒๓ มิ.ย.๕๖)
วิจารณา = การพิจารณา, วิจารณญาณ, ปัญญา (ศัพท์วิเคราะห์)
วิจารยเต เอตายาติ วิจารณา กิริยาเป็นเครื่องสั่งสม
วิ บทหน้า จรฺ ธาตุ ในความหมายว่าสั่งสม ยุ ปัจจัย
วิจารณา (บาลี-อังกฤษ)
-การสืบสวน, การแสวงหา, การเอาใจใส่
-การจัดแจง, การวางแผน, การดูแล (looking after), แผนการ (scheme)
ญาณ (นปุง.)
ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเชื่อ, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้
ญาณ = ญาณ, ความรู้, ปัญญา (ศัพท์วิเคราะห์)
ชานาติ อเนนาติ ญาณํ เครื่องรู้, ธรรมชาตเป็นเหตุรู้
ญา ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน น เป็น ณ
เญยฺยํ ชานาตีติ ญาณํ ธรรมชาตที่รู้สิ่งที่พึงรู้ (ญา + ยุ เหมือน วิ.ต้น)
วิจาร, วิจารณ-, วิจารณ์
[วิจาน, วิจาระนะ-, วิจาน] ก. ให้คําตัดสินสิ่งที่เป็นศิลปกรรมหรือวรรณกรรมเป็นต้น โดยผู้มีความรู้ควรเชื่อถือได้ ว่ามีค่าความงามความไพเราะดีอย่างไร หรือมีข้อขาดตกบกพร่องอย่างไรบ้าง เช่น เขาวิจารณ์ว่า หนังสือเล่มนี้แสดงปัญหาสังคมในปัจจุบันได้ดีมากสมควรได้รับรางวัล, ติชม, มักใช้เต็มคำว่า วิพากษ์วิจารณ์ เช่น คนดูหนังวิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องช้าทำให้คนดูเบื่อ.
วิจารณญาณ
[วิจาระนะยาน] น. ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้องได้.
วิพากษ์
ก. พิจารณาตัดสิน. (ส. วิวกฺษา; เทียบ วิวาก ว่า ผู้พิพากษา).
วิพากษ์วิจารณ์
ก. วิจารณ์, ติชม, เช่น คนดูหนังวิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องช้าทำให้คนดูเบื่อ.
ญาณ, ญาณ-
[ยาน, ยานะ-, ยานนะ-] น. ปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ, ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ. (ป.; ส. ชฺาน).