มารชินานุสรณ์
มารชินานุสรณ์
—————
ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “มารชินานุสรณ์” หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลย่อบอกไว้ข้างท้ายบทความนี้
ผมได้หนังสือเล่มมาอย่างไร จะเอาไว้เล่าวันหน้า วันนี้อยากให้ญาติมิตรได้อ่านเรื่องหนึ่งในหนังสือนั้นก่อน เรื่องที่คัดมาให้อ่านนี้ไม่ได้ลงชื่อว่าใครเขียน แต่อ่านสำนวนแล้วพอคาดเดาได้ว่าเป็นใคร
ที่ผมอยากให้ได้อ่านมากที่สุดก็คือพระเถระมหาเถระที่เป็นพระสังฆาธิการ
คำว่า “พระสังฆาธิการ” ตามความเข้าใจของผม หมายถึงพระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ ตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป (ความจริง “เจ้าคณะ” ภายในวัดใหญ่ที่แบ่งเป็นหลายคณะ เช่นวัดมหาธาตุฯ วัดพระเชตุพนฯ วัดอรุณฯ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น ก็ควรนับเป็นพระสังฆาธิการด้วย) จนถึงกรรมการมหาเถรสมาคม
ผมอยากให้พระเถระมหาเถระเหล่านี้ได้อ่านเรื่องนี้ จะได้รู้ว่าพระสังฆาธิการรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทยในอดีตกาลไม่นานไกล มีปฏิปทาอย่างไร มีวิธีทำงานและมีอุดมการณ์อย่างไร
ไม่ได้ต้องการให้พระสังฆาธิการทุกรูปต้องเป็นอย่างท่าน เพราะคนเราไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน แต่อยากให้อ่านแล้วเปิดใจ
ผมอ่านแล้วได้ข้อสรุปสั้นๆ ว่า พระสังฆาธิการต้องทำงานเพื่อพระศาสนา ไม่ใช่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง
ขอเชิญอ่านครับผม คัดมาตามต้นฉบับ แก้ไขสะกดการันต์บางแห่งบ้างเล็กน้อย –
………………………………………………….
มรณประวัติ
พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
(๑๓ มีนาคม ๒๔๕๑ – ๑๖ มีนาคม ๒๕l๒๒)
เมื่อพระธรรมเจดีย์ วัดทองนพคุณ ถึงแก่มรณภาพลง คนส่วนใหญ่เห็นจะไม่รู้จักพระเถระรูปนี้ แม้วัดทองนพพระคุณซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) บูรณปฏิสังขรณ์แต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง สมาชิกสกุลไกรฤกษ์รุ่นนี้ก็เห็นจะไม่รู้จักกันแล้ว ทั้ง ๆ ที่เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ยังโปรดให้สมาชิกของสกุลนี้รับผ้าพระกฐินไปทอดพระราชทานแทนพระองค์
พระธรรมเจดีย์รูปนี้ จะถือว่าเป็นพระราชาคณะคู่บุญบารมีในรัชกาลปัจจุบันก็ว่าได้ เพราะท่านได้เป็นเปรียญเอกอุในต้นรัชสมัย (พ.ศ.๒๔๙๓) และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระกิตติสารโศภน ราชาคณะสามัญในปีถัดไป (พ.ศ.๒๔๙๔ ) อันเป็นบีที่เสด็จนิวัติคืนสู่พระนคร อย่างเป็นการถาวร หลังจากที่เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสวิสมาเป็นเวลานาน
จำเดิมแต่ท่านเป็นเปรียญ ๙ ประโยคมาแล้ว ท่านองค์นี้ได้ขะมักเขม้นสอนพระปริยัติธรรม จนสำนักเรียนวัดทองนพคุณมีเกียรติคุณแพร่ไพศาลจนทั่วพระราชอาณาจักร เปรียญสูง ๆ ล้วนต้องมาเรียนกับท่านแทบทั้งสิ้น สามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกที่ทรงพระมหากรุณารับเป็นนาคหลวงบวชพระราชทานก็เป็นศิษย์ท่าน เบ็ดเสร็จท่านสอนพระสอนเปรียญ ๙ ได้ถึง ๔๔ รูป ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีใครทำได้มาก่อนเลย ปีที่ท่านหยุดสอน (พ.ศ.๒๕๐๗) ปรากฏว่าไม่มีใครสอบได้ประโยค ๙ เลย
ขณะที่ท่านสอนอยู่นั้น โรงเรียนล้อมวิทยาประสิทธิ์ วัดทองนพคุณ โดนอัคคีภัย ต้องสอนกันตามศาลารายและภายในพระอุโบสถ พระเณรก็เรียนกันอย่างขะมักเขม้น จนวิ่งเต้นหาทุนรอนจากรัฐและราษฎร์มาสร้างโรงเรียนได้ใหม่ ท่านเอง ถ้าถึงเวลาสอนแล้ว แม้กิจนิมนต์ก็ไม่รับ แม้นิตยภัตรตลอดจนไทยทานอื่น ๆ ที่ทายกถวายมา ท่านนำมาใช้เพื่อการศึกษาแทบทั้งสิ้น เช่นซื้อกระดาษ อัดโรเนียว พิมพ์หนังสือแจก เป็นต้น จนศิษย์ที่ใกล้ชิดต้องช่วยกันตั้งมูลนิธิศึกษาปริยัติธรรมทองนพคุณขึ้น เพื่ออุดหนุนจุนเจือการนี้ สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร โปรดปรานมากในด้านความสามารถทางพระปริยัติธรรมของท่าน จึงขอให้ทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านรูปนี้ขึ้นเป็นพระราชเวที (พ.ศ. ๒๔๙๙) และพระเทพเมธี (พ.ศ.๒๕๐๓) โดยลำดับ ท่านสอนและตรวจงานแปลหนังสือของนักเรียน สายตาดับวูบลงในขณะตรวจการบ้าน สมเด็จพระสังฆราชถึงกับโปรดให้แพทย์ประจำพระองค์มาเยี่ยวยา แต่ดวงตาของท่านก็ไม่หายดังเดิม จึงต้องวางงานด้านการสอนไว้เพียงนั้น
เมื่อท่านวางมือทางด้านการสอนพระปริยัติธรรม ก็พอดีต้องมารับภาระเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ (พ.ศ.๒๕๐๕ ) ปรากฏว่าท่านเอาใจใส่ดูแลวัด กวดขันระเบียบวินัยพระภิกษุสามเณร จนร่ำลือกันทั่วไปว่าพระวัดนี้มีศีลาจารวัตรงดงาม ท่านกวดขันเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรม การทำวัตร สวดมนต์ ตลอดจนการช่าง และที่สำคัญก็คือ ทำบัญชีในวัดให้ซัดแจ้ง แยกบัญชีของสงฆ์ออกจากส่วนตัว จนเป็นแบบอย่างของสังฆมณฑล ด้านการสาธารณูปการ ท่านก็สร้างของใหม่ อนุรักษ์ของเก่า อย่างเอาใจใส่ ควบคุมดูแลช่างอย่างใกล้ชิด เคยขึ้นไปปิดทองหน้าบันซุ้มจรนำเอง จนตกลงมาแขนแพลงไปก็ครั้งหนึ่ง
ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี (พ.ศ.๒๕๑๒) ท่านได้ดำเนินงานบริหารการคณะสงฆ์อย่างที่ไม่มีท่านผู้ใดทำได้มาก่อน ทั้งยังชำระกิจการงานต่าง ๆ ที่คั่งค้างมานาน ๆ จนลุล่วงไปหมด วางหลักการดำเนินงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต วางกฎระเบียบเรื่องเงินทองของสงฆ์ และของส่วนตัว ให้ทำและมีการชำระบัญชีการเงินของทุก ๆ วัด จัดการอบรมพระสังฆาธิการทั้งระดับอำเภอ ตำบล และเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ให้รู้ซึ้งถึงการปกครอง การเผยแผ่ การศึกษาและการสาธารณูปการ อบรมด้านอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมภายในวัด ให้มีการทำแผนผังวัด ตลอดจนอบรมเรื่องการสาธารณสุข ดังนี้เป็นต้น
ครั้นยุบจังหวัดพระนคร ธนบุรีรวมเข้าเป็นนครหลวง การคณะสงฆ์ก็เดินตามทางราชการ เป็นอันตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง ๒ ก็หมดวาระไปด้วยกันทั้งคู่ แต่สมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพน ต้องพระประสงค์จะให้พระธรรมเจดีย์มาร่วมเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครหลวงรูปที่ ๒ โดยขอให้สมเด็จพระวันรัต วัดสังเวช เป็นรองรูปที่ ๑ โดยทรงเป็นเจ้าคณะเอง แต่ท่านทูลคัดค้าน อ้างว่าจำนวนวัดในนครหลวงมีไม่ถึงจำนวนที่จะมีรองเจ้าคณะจังหวัดได้ถึง ๒ รูป ก็สมเด็จวัดพระเชตุพนท่านถือว่าท่านเป็นสกลมหาสังฆปริณายก รับสั่งว่าจะแก้กฎมหาเถรสมาคมให้ แต่พระธรรมเจดีย์ยืนยันว่าไม่รับเป็น โดยให้เหตุผลถวายว่า ควรให้คนเดินตามหลักการ ไม่ใช่แก้หลักการมาหาคน
เมื่อพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีอยู่นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสุทัศน์ เป็นเจ้าคณะภาค ๑ ได้แลเห็นผีมือและความเที่ยงธรรมในการทำงานของท่าน ย่อมรู้สึกเชื่อถือ พอท่านได้โยกย้ายไปเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ท่านจึงขอให้พระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าคณะภาค ๔ (ได้ทราบว่าสมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ก็อยากให้ท่านไปเป็นเจ้าคณะภาคในหนนั้น เพราะชาติภูมิเดิมของท่านอยู่ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา) ความจริงพระยามานวราชเสวีได้ปรารภกับท่านว่า ท่านเองก็ได้บำเพ็ญคุณงามความดีมามากแล้ว ไม่ควรที่จะรับตำแหน่งหน้าที่อื่นใดอีกแล้ว ทั้งชนมายุท่านก็มากแล้วด้วย ที่ท่านเตือนนี้ ก็เพราะท่านรู้จักชอบพอกับพระธรรมเจดีย์มาแต่แรกบวช ด้วยคุณนายเนียร ลพานุกรม มารดาท่านผู้หญิงมานวราชเสวี เป็นโยมบวชของพระธรรมเจดีย์มาแต่แรก และครอบครัวนี้มีความเคารพนับถือท่านตลอดเรื่อยมา แต่พระธรรมเจดีย์ก็เห็นแก่พระศาสนา รับทำการบริหารด้านภาคต่อมา (พ.ศ. ๒๕๑๖) โดยขยายวงจากที่เคยทำในระดับจังหวัดให้กว้างขวางออกไป ที่หนักก็ตรงที่ท่านต้องออกไปดำเนินการอบรมพระด้วยองค์เองถึงนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตรและเพชรบูรณ์บีละหลาย ๆ ครั้ง ทั้งยังไปเยี่ยมวัดทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าเจ้าคณะภาคอื่นใดเคยทำมาก่อนเลย นอกไปจากนี้แล้ว ท่านเจ้าคณะหนยังขอร้องให้ท่านช่วยอบรมพระสังฆาธิการห่างออกไปถึงภาค ๕ ด้วย และเคยไปเป็นวิทยากรแทบตลอดทั้งหนเหนือด้วยซ้ำ ท่านเองก็พิมพ์หนังสือ แถลงการณ์คณะภาค ๔ ออกแนะนำพร่ำสอนพระ กวดขันเรื่องสุปฏิบัติ เรื่องเงินทองของวัด ทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา เคราะห์ดีที่ท่านได้มูลนิธิต่าง ๆ ช่วย ได้คริสตศาสนิกให้ความร่วมมือ พระภิกษุสงฆ์ก็พอใจ เวลาอบรม มีพระจากภาคอื่นมาขอเข้ารับการอบรมด้วยเนือง ๆ จนถึงกับพระสังฆาธิการภาค ๕ และภาคอื่น มาขอให้ท่านไปเป็นเจ้าคณะก็เคย ทั้ง ๆ ที่ท่านชรามากแล้ว ครั้นสิ้นอายุภาค (เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐) ท่านจึงปรารภกับเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ขอลาออกจากตำแหน่ง แต่พระสังฆาธิการในภาคไม่ยอม พากันเข้าชื่อร้องเรียนมา ขอให้ท่านดำรงตำแหน่งอยู่อีกวาระหนึ่ง ตามปกติ เวลาหมดอายุเจ้าคณะภาค มักรั้งรอไว้หลายเดือน กว่าจะตั้งใหม่ แต่เมื่อปีก่อน มีเสียงไม่พอใจเจ้าคณะภาคหลายภาคด้วยกันประกอบกับพระธรรมเจดีย์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาพอใจ ดำริจะขอลาออก ทางมหาเถรสมาคมจึงรวบรัดจัดการแต่งตั้งเจ้าคณะภาคทุกภาค ให้ดำรงตำเหน่งเดิมต่อไปอีกสี่ปีเลยทีเดียว โดยไม่มีการโยกย้าย ถอดถอนหรือแต่งตั้งเพิ่ม แต่ครั้นถึงคราวจะเลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ พระธรรมเจดีย์ก็คงไม่ได้เลื่อนสมณตักดิ์อยู่นั่นเอง
ความข้อนี้พระเจ้าอยู่หัวถึงกับรับสั่งขึ้น ตอนอาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาพระเถระองค์อื่นขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัตรว่า “ทำไมจึงข้ามพระธรรมเจดีย์ไป” และทราบว่าทางสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนา หารือเรื่องจะโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมเจดีย์ ขึ้นเป็นพระมหาโพธิวงศาจารย์ ที่รองสมเด็จพระราชาคณะ (ไม่ใช่ชั้นธรรมพิเศษ) เป็นกรณีพิเศษ ในวันฉัตรมงคลบีนี้ ก็พอดีท่านถึงแก่มรณภาพเสียก่อน
ครั้นพระธรรมเจดีย์ทูลลาถึงแก่มรณภาพล่วงลับไป จึงโปรดให้เลื่อนเกียรติยศโกศศพท่าน จากโกศโถเป็นโกศแปดเหลี่ยม เท่าที่พระราชาคณะชั้นหิรัญบัตร เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม อันเป็นวันเผาบุพโพ ที่วัดทองนพคุณ ครั้นถึงงานออกเมรุ ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โดยพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งสิ้น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระวรชายาเสด็จมาพระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ทั้งนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง
………………………………………………….
จากหนังสือ มารชินานุสรณ์
ที่ระลึกในงานบรรจุอัฐิพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.๙)
ณ ตึกลพานุกรม วัดทองนพคุณ
เนื่องในงานศัตมาหะ วันเสาร์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๒
………………………………………………….
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
๑๑:๐๖
……………………………………….
……………………………………….