อากูล – อนากูล (บาลีวันละคำ 3,913)
อากูล – อนากูล
ทบทวนคำเก่าๆ
“อากูล” อ่านว่า อา-กูน
“อนากูล” อ่านว่า อะ-นา-กูน
(๑) “อากูล”
บาลีเป็น “อากุล” (อา-กุ-ละ, –กุ– ไม่ใช่ –กู-) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + กุลฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + กุลฺ = อากุลฺ + อ = อากุล แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาปล่อย” หรือ “สิ่งที่ถูกปล่อยให้กระจาย” หมายถึง วุ่นวาย, สับสน, รกรุงรัง, ยังไม่ได้สะสางให้เรียบร้อย คำที่นิยมแปลกันมากคือ “คั่งค้าง”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อากุล : (คำคุณศัพท์) ยุ่ง; disordered, confounded.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “อากุล” ตามรากศัพท์ว่า “revolving quickly”, & so “confused” = หมุนอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นจึงเกิดผลเป็น “confused” = งง
ดังนั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ จึงแปล “อากุล” ว่า entangled, confused, upset, twisted, bewildered (ยุ่งเหยิง, งงงวย, หัวเสีย, บิดเบี้ยว, หัวหมุน)
“อากุล” ในภาษาไทยใช้เป็น “อากูล” (อา-กูน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อากูล : (คำวิเศษณ์) คั่งค้าง เช่น การงานไม่อากูลเป็นมงคลอันสูงสุด. (ป., ส. อากุล).”
(๒) “อนากูล”
บาลีเป็น “อนากุล” อ่านว่า อะ-นา-กุ-ละ รูปคำเดิมมาจาก น + อากุล
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “อากุล” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อา– จึงแปลง น เป็น อน
กฎการเปลี่ยน “น” นี้ บาลีวันละคำนำเสนอย้ำมาตลอด ถ้าติดตามอ่านเสมอคงจะเข้าใจได้ขึ้นใจ
(ข) “อากุล” รากศัพท์ดูข้างต้น
น + อากุล แปลง น เป็น อน
: น + อากุลฺ = นอากุลฺ > อนากุล (อะ-นา-กุ-ละ) แปลว่า “ไม่อากูล” คือไม่คั่งค้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนากุล” ว่า clear (สะอาด, เก็บกวาด, สะสาง)
“อนากุล” ในภาษาไทยใช้เป็น “อนากูล” (อะ-นา-กูน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนากูล : (คำวิเศษณ์) ไม่อากูล, ไม่คั่งค้าง, เช่น การงานอนากูลเป็นมงคลอันสูงสุด. (ป., ส. น + อากุล).”
อภิปรายขยายความ :
ขอชวนให้สังเกตคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เฉพาะข้อความที่ยกตัวอย่าง
“อากูล” ยกตัวอย่างว่า “เช่น การงานไม่อากูลเป็นมงคลอันสูงสุด”
“อนากูล” ยกตัวอย่างว่า “เช่น การงานอนากูลเป็นมงคลอันสูงสุด”
คำหนึ่งบอกว่า “การงานไม่อากูล”
คำหนึ่งบอกว่า “การงานอนากูล”
“อากูล” กับ “อนากูล” พจนานุกรมฯ ใช้ตัวอย่างเดียวกัน ต่างกันที่คำหนึ่งพูดเป็นศัพท์ คำหนึ่งแปลทับศัพท์
“ไม่อากูล” พูดเป็นศัพท์ว่า “อนากูล”
“อนากูล” แปลทับศัพท์ว่า “ไม่อากูล”
คำว่า “การงานไม่อากูลเป็นมงคลอันสูงสุด” หรือ “การงานอนากูลเป็นมงคลอันสูงสุด” นั้น ต้นฉบับบาลีใช้คำเดียวกันว่า “อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แต่พจนานุกรมฯ เอามายกตัวอย่างเป็น 2 สำนวน
ชวนสังเกตตรงนี้ไม่ใช่จะมาจับผิดพจนานุกรมฯ เพียงแต่ชวนให้คิด
วิธีอธิบายคำหรือให้คำนิยามนั้น ท่านว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง
เคยมีการยกตัวอย่างสนุกๆ เรื่องการนิยามคำว่า “งูเหลือม” และ “งูหลาม”
“งูเหลือม” นิยามว่า “งูชนิดหนึ่ง คล้ายงูหลาม”
“งูหลาม” นิยามว่า “งูชนิดหนึ่ง คล้ายงูเหลือม”
อ่านคำนิยามแล้วไม่อาจรู้ได้ว่า “งูเหลือม” และ “งูหลาม” เป็นงูอะไร มีลักษณะอย่างไร
ถ้าเรียนบาลีก็จะเข้าใจได้ว่า “การงานไม่อากูล” และ “การงานอนากูล” คือการงานแบบไหน
ในคัมภีร์ท่านแสดงอานิสงส์ของ “การงานไม่อากูล” หรือ “การงานอนากูล” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ –
…………..
โย ปน สีตาทีนิ อคเณตฺวา อตฺตโน อนลสตาย กมฺมนฺเต อากุเล น กโรติ โส มหนฺตํ ธนํ อุปฺปาเทตฺวา สุขํ วินฺทติ.
อนึ่ง ผู้ใดไม่คำนึงถึงอุปสรรคมีความหนาวเป็นต้น ย่อมไม่ทำการงานให้อากูลเพราะความที่ตนไม่เกียจคร้าน, ผู้นั้นทำทรัพย์เป็นอันมากให้เกิดขึ้นย่อมประสบสุข
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 412 หน้า 368
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำงานให้สำเร็จโดยพลัน
: นั่นแหละคือรางวัลของคนทำงาน
#บาลีวันละคำ (3,913)
28-2-66
…………………………….
…………………………….