อัยการ (บาลีวันละคำ 734)
อัยการ
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อัยการ” (ไอ-ยะ-กาน) ไว้ดังนี้ –
(1) (คำนาม) การของเจ้า
(2) (คำเก่า) ตัวบทกฎหมาย เรียกว่า พระอัยการ
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบด้วยคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสุด และพนักงานอัยการอื่น โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยธุรการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งหรือคดีปกครอง และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เรียกว่า องค์กรอัยการ, เดิมเรียกว่า กรมอัยการ
(4) ถ้าหมายถึงเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดิน เรียกว่า พนักงานอัยการ หรือ ข้าราชการอัยการ, โบราณเรียกว่า พนักงานรักษาพระอัยการ ยกกระบัตร หรือ ยกบัตร
สรุปความหมายของ “อัยการ” ตาม พจน.54 –
(1) การของเจ้า
(2) ตัวบทกฎหมาย
(3) องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(4) เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดิน
(๑) ความหมายตามข้อ (1) = การของเจ้า
“เจ้า” ในที่นี้ไม่ใช่ราชา กษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ แต่หมายถึง “นาย” หรือ “ผู้บังคับบัญชา” (ของคนรับใช้ ลูกน้อง หรือคนในสังกัด)
“เจ้า” คำนี้ตรงกับบาลีว่า “อยฺย” (ไอ-ยะ) หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, เจ้านาย, ผู้สูงศักดิ์, ท่านผู้มีเกียรติ (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อยฺย” ว่า gentleman, sire, lord, master)
– ในคัมภีร์จับคู่ “อยฺย” กับ “ทาส” หมายถึงถ้าใครมี “ทาส” (= คนรับใช้) คนรับใช้ก็จะเรียกผู้นั้นว่า “อยฺย”
– ภรรยาเรียกสามีก็ใช้คำว่า “อยฺย” ด้วย
อยฺย (= นาย) + การ (= การกระทำ, การงาน, ผู้กระทำ) = อยฺยการ > อัยการ = การของเจ้า (ตาม พจน.) และแปลว่า “ผู้ทำงานของนาย” ก็ได้
(๒) ความหมายตามข้อ (2) = ตัวบทกฎหมาย
“กฎหมาย” ภาษาอังกฤษว่า law พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล law เป็นบาลีว่า –
(1) nīti นีติ (นี-ติ) = “เครื่องนำไป” ที่เราใช้กันว่า “นิติ” เช่น นิติศาสตร์
(2) paññatti ปญฺญตฺติ (ปัน-ยัด-ติ) = “เครื่องปูลาด” ไว้ให้นั่ง นอน เดิน > ห้ามนั่งนอนเดินที่อื่น ต้องนั่งนอนเดินบนที่ที่ปูลาดไว้ให้ > ข้อบังคับ ตรงกับที่เราใช้ว่า “บัญญัติ”
(3) vavatthā ววตฺถา (วะ-วัด-ถา) = “กำหนดลง” > ข้อกำหนด, ข้อจำกัด
(4) sikkhā สิกฺขา (สิก-ขา) = “อันเขาพึงสำเหนียก” > ข้อที่ต้องรู้และปฏิบัติตาม
(5) āṇā อาณา (อา-นา) = คำสั่ง, คำบังคับ, อำนาจ, การใช้อำนาจ, การสั่งบังคับ
(6) niyoga นิโยค (นิ-โย-คะ) = “ประกอบเข้าไว้อย่างเด็ดขาด” > คำสั่งตายตัว
(๓) ความหมายตามข้อ (3) = องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“อัยการ” ตามความหมายนี้ เป็นความหมายเฉพาะในภาษาไทย
แต่คำว่า “องค์กร” (= บุคคล คณะบุคคล หรือสถาบันซึ่งเป็นส่วนประกอบของหน่วยงานใหญ่ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหรือขึ้นต่อกัน) อาจเทียบได้กับคำว่า “สงฺฆ” (สัง-คะ) ที่แปลว่า “หมู่” (ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “พระสงฆ์”) เช่นในคำว่า สาวกสงฺฆ = “หมู่แห่งสาวก” หมายถึงสาวกทุกหมู่เหล่า ซึ่งเป็นองค์กรที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งขึ้นทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา แต่ทุกวันนี้เรามักเข้าใจกันเพียงแคบๆ ว่าหมายถึง “พระสงฆ์”
(๔) ความหมายตามข้อ (4) = เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดิน
เรารู้จักคำว่า “อัยการ” ในความหมายนี้กันเป็นส่วนมาก
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อัยการ” เป็นภาษาอังกฤษว่า
– public prosecutor
– crown prosecutor
– public attorney
– state attorney
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล prosecutor เป็นบาลีว่า –
(1) codaka โจทก (โจ-ทะ-กะ) “ผู้ทักท้วง” “ผู้ตักเตือน” > ผู้ฟ้องร้อง ที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “โจทก์”
(2) abhiyuñjaka อภิยุญฺชก (อะ-พิ-ยุน-ชะ-กะ) “ผู้ประกอบอย่างยิ่ง” > ผู้โดดลงไปคลุกกับเรื่องนั้นๆ
แปล attorney เป็นบาลีว่า
(3) parakiccasādhaka ปรกิจฺจสาธก (ปะ-ระ-กิด-จะ-สา-ทะ-กะ) “ผู้ยังกิจของผู้อื่นให้สำเร็จ” > ผู้ทำงานแทน
อัยการ : ผู้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
: ประโยชน์ส่วนตัว รักษาไว้แต่พอกิน
: ประโยชน์ของแผ่นดินรักษาไว้ชั่วลูกชั่วหลาน
—————–
(ตามคำถามลอยๆ ของ Patipong Phu-ngamtong)
#บาลีวันละคำ (734)
21-5-57
อัยการ มาจากคำว่า อาญาการ ครับ