บาลีวันละคำ

วากยสัมพันธ์ [2] (บาลีวันละคำ 3,914)

วากยสัมพันธ์ [2]

วิชาสร้างสรรค์ความงามของภาษา

อ่านว่า วาก-กะ-ยะ-สำ-พัน

ประกอบด้วยคำว่า วากย + สัมพันธ์ 

(๑) “วากย” 

บาลีเป็น “วากฺย” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านตามตาเห็นว่า วาก-กฺยะ หรือตามที่พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านในภาษาไทยว่า วาก-กะ-ยะ อ่านตามเสียงบาลีว่า วาก-เกี๊ยะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา แล้วแปลง จฺ เป็น กฺ (วจฺ > วาจฺ > วากฺ)

: วจฺ + ณฺย = วจณฺย > วจฺย> วาจฺย > วากฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อความอันเขากล่าว” หมายถึง การพูด, คำพูด, พากย์ (saying, speech, sentence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วากย-, วากยะ : (คำนาม) คําพูด, คํากล่าว, ถ้อยคํา, ประโยค. (ป., ส.).”

(๒) “สัมพันธ์” 

บาลีเป็น “สมฺพนฺธ” อ่านว่า สำ-พัน-ทะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ

: สํ > สมฺ + พนฺธฺ = สมฺพนฺธฺ + = สมฺพนฺธฺ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การผูกรวมกันไว้

สมฺพนฺธฺ” ในบาลีใช้ในความดังนี้ – 

(1) การผูกชนิดหนึ่ง (a sort of binding)

(2) เชือกผูก, โซ่ (a halter, tether) 

(3) ห่วง, ตรวน (bond, fetter)

(4) ผู้มัดหรือผูกรวมกันไว้ (one who binds or ties together)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมพันธ-, สัมพันธ์, สัมพันธน์ : (คำกริยา) ผูกพัน, เกี่ยวข้อง, เช่น เขากับฉันสัมพันธ์กันฉันญาติ ข้อความข้างหลังไม่สัมพันธ์กับข้อความข้างหน้า.(คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) การแยกความออกเป็นประโยค ๆ หรือส่วนต่าง ๆ ของประโยค แล้วบอกการเกี่ยวข้องของประโยคและคำต่าง ๆ ในประโยคนั้น ๆ. (ป., ส.).”

วากฺย + สมฺพนฺธ = วากฺยสมฺพนฺธ > วากยสัมพันธ์ แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้องแห่งคำพูด” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วากยสัมพันธ์ : (คำนาม) ชื่อตําราไวยากรณ์ตอนที่แยกความออกเป็นประโยค ๆ และบอกความเกี่ยวข้องของคําในประโยค.”

ขยายความ :

วากยสัมพันธ์” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า –

…………..

           บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

           [๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑

           [๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑

           [๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการกและประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน

           [๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

…………..

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์ 

…………..

หลักของวิชา “วากยสัมพันธ์” ก็คือ –

(1) ศึกษาให้รู้ว่าคำที่เอามาเรียงกันเข้าเป็นประโยคนั้น แต่ละคำทำหน้าที่อะไร คือมีคำนั้นอยู่ตรงนั้นเพื่อจะให้ทำหน้าที่อะไรในประโยค เช่นทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นกริยา เป็นกรรมเป็นต้น

(2) ศึกษาให้รู้ว่าคำนั้นๆ นอกจากทำหน้าที่ของตัวเองแล้วยังต้องเกี่ยวข้อง คือ “สัมพันธ์” กับคำไหนอีกบ้าง และเกี่ยวข้องในฐานะอะไร

มีคำกล่าวว่า ประโยคภาษาไทยที่ดีนั้น “ตัดออกสักคำหนึ่ง ก็ขาด เติมเข้าสักคำหนึ่ง ก็เกิน” ซึ่งจะเขียนให้มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ผู้เขียนจะต้องรู้หลักวิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นอย่างดี 

จะเห็นความต่อเนื่องกันของหลักภาษา คือ – 

อักขรวิธี” เรียนให้รู้จักตัวอักษร 

วจีวิภาค” เรียนวิธีเอาตัวอักษรมาประสมกันเป็นคำ 

วากยสัมพันธ์” เรียนวิธีเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค

การเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค อุปมาเหมือนบรรจุคนเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ จะทำได้ดีต้องใช้หลักวิชา เริ่มตั้งแต่พิจารณาว่าหน่วยงานนั้นมีภารกิจต้องทำอะไรบ้าง ควรมีตำแหน่งงานอะไรบ้าง ตำแหน่งอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องมี ควรใช้คนมากน้อยแค่ไหน ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้นๆ ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

การเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค เป็นข้อความ ก็ใช้หลักวิชาทำนองเดียวกัน โดยสรุปคือ “ใช้คำเหมาะในที่เหมาะ” หลักสำคัญอยู่ที่ต้องรู้ว่า ในที่เช่นไรใช้คำเช่นไรจึงจะเหมาะ คำเช่นไรจำเป็นต้องใช้ และคำเช่นไรไม่จำเป็นต้องใช้ 

การใช้คำบางคำในที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ก็เหมือนกับบรรจุคนลงไปในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีงานที่จำเป็นต้องทำ

วิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นวิชาที่จะช่วยบอกว่า คำนั้นมาอยู่ตรงนั้นเพื่อทำหน้าที่อะไร ตรงนั้นไม่จำเป็นต้องมีคำนั้นเพราะอะไร อันจะช่วยให้การใช้ภาษามีความถูกต้อง เหมาะสม และงดงาม

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้ศึกษาภาษาไทยตามตำราภาษาไทยสมัยเก่าอีกแล้ว ผลก็คือเด็กรุ่นใหม่โดยมากเขียนภาษาไทยไม่เป็นภาษา เพราะไม่มีความรู้ว่าข้อความในประโยคที่เขียนนั้นจำเป็นจะต้องมีคำอะไร หรือไม่จำเป็นจะต้องมีคำอะไร 

ข้อความที่เขียนออกมาแล้วถ้าถามว่า คำนี้ทำหน้าที่อะไร ทำไมต้องใช้คำนี้ ทำไมต้องมีคำนี้ ไม่มีได้หรือไม่ ใช้คำอื่นแทนจะดีขึ้นหรือไม่ เด็กไทยสมัยใหม่ตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้

เราจึงหาภาษาไทยที่ดีๆ ที่งามๆ ที่เขียนกันขึ้นใหม่ๆ ในสมัยนี้อ่านแทบจะไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราไม่ได้เรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” กันนั่นเอง

คนรุ่นใหม่ไม่เรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่จำเป็น กล่าวคือ เขาไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาเพราะๆ งามๆ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” ให้หนักสมองหรือให้รกสมองทำไมกันเล่า

ถ้าคนไทยคิดอย่างนี้ อนาคตของภาษาไทยอันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นชาติไทยจะเป็นอย่างไรหนอ

แต่ในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย วิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นวิชาบังคับ ต้องเรียนในระดับชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค นักเรียนต้องสอบผ่านจึงจะถือว่าสอบได้ในชั้นนี้ อันเป็นชั้นตัดสินว่า พระภิกษุมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” และสามเณรมีสิทธิ์ใช้คำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ ภาษาจึงไพเราะ

: คนเหมาะควรอยู่ในที่เหมาะ งานจึงจะงาม

#บาลีวันละคำ (3,914)

1-3-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *