บาลีวันละคำ

เบญจมหาบริจาค (บาลีวันละคำ 3,919)

เบญจมหาบริจาค

เครื่องวัดน้ำใจของมหาบุรุษ

อ่านว่า เบน-จะ-มะ-หา-บอ-ริ-จาก

ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + มหาบริจาค

(๑) “เบญจ

บาลีเป็น “ปญฺจ” อ่านว่า ปัน-จะ แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

(๒) “มหาบริจาค

อ่านว่า มะ-หา-บอ-ริ-จาก แยกศัพท์เป็น มหา + บริจาค

(ก) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –บริจาค เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” 

(ข) “บริจาค” บาลีเป็น “ปริจฺจาค” อ่านว่า ปะ-ริด-จา-คะ รากศัพท์มาจาก ปริ + จาค 

(1) “ปริ” (ปะ-ริ) เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)

(2) “จาค” อ่านว่า จา-คะ รากศัพท์มาจาก จชฺ (ธาตุ = สละ, ละ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (จชฺ > จาช), แปลง ที่สุดธาตเป็น (จชฺ > จค)

: จชฺ + = จชณ > จช > จาช > จาค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การสละ

จาค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การทิ้ง, การสละ, การยอมให้ (abandoning, giving up, renunciation)

(2) ความมีใจกว้าง, ความเผื่อแผ่อารี, ความมีใจใหญ่ใจโต (liberality, generosity, munificence); 

(3) เผื่อแผ่อารี, มีใจคอกว้างขวาง (generous, munificent)

ปริ + จาค ซ้อน จฺ ระหว่างอุปสรรคกับนาม

: ปริ + จฺ + จาค = ปริจฺจาค (ปะ-ริด-จา-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “การสละรอบด้าน

ปริจฺจาค” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การเลิก, การยกเลิก, การบริจาค, การสละ (giving up, abandonment, sacrifice, renunciation)

(2) ค่าใช้จ่าย (expense)

(3) การให้ (แก่คนจน), ความโอบอ้อมอารี (giving [to the poor], liberality)

บาลี “ปริจฺจาค” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริจาค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริจาค : (คำกริยา) สละให้, เสียสละ. (คำนาม) การสละ, การให้, การแจก, ความเสียสละ, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม). (ป. ปริจฺจาค; ส. ปริตฺยาค).”

บาลี “ปริจฺจาค” สันสกฤตเป็น “ปริตฺยาค” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปริตฺยาค : (คำนาม) การสละ; ศูนย์, ความเสียหาย; desertion; loss.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “บริจาค” ไว้ว่า –

…………..

บริจาค : สละให้, เสียสละ, สละออกไปจากตัว, การสละให้หมดความเห็นแก่ตัว หรืออย่างมิให้มีความเห็นแก่ตน โดยมุ่งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อความดีงาม หรือเพื่อการก้าวสูงขึ้นไปในธรรม เช่น ธนบริจาค (การสละทรัพย์) ชีวิตบริจาค (การสละชีวิต) กามสุขบริจาค (การสละกามสุข) อกุศลบริจาค (การสละละอกุศล); บัดนี้ มักหมายเฉพาะการร่วมให้หรือการสละเพื่อการบุญอย่างเป็นพิธี.

…………..

มหนฺต + ปริจฺจาค = มหนฺตปริจฺจาค > มหาปริจฺจาค (มะ-หา-ปะ-ริด-จา-คะ) แปลว่า “การสละรอบด้านอย่างยิ่งใหญ่

ปญฺจ + มหาปริจฺจาค = ปญฺจมหาปริจฺจาค (ปัน-จะ-มะ-หา-ปะ-ริด-จา-คะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “เบญจมหาบริจาค” (เบน-จะ-มะ-หา-บอ-ริ-จาก) แปลว่า “การสละรอบด้านอย่างยิ่งใหญ่ห้าประการ

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มหาบริจาค” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

มหาบริจาค : การสละอย่างใหญ่ของพระโพธิสัตว์ตามที่อรรถกถาแสดงไว้มี ๕ อย่างคือ 

๑. ธนบริจาค สละทรัพย์สมบัติเป็นทาน 

๒. อังคบริจาค สละอวัยวะเป็นทาน 

๓. ชีวิตบริจาค สละชีวิตเป็นทาน 

๔. บุตรบริจาค สละลูกเป็นทาน 

๕. ทารบริจาค สละเมียเป็นทาน

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “ปริจฺจาค” ยกตัวอย่างคำว่า “ปญฺจ มหาปริจฺจาคา” ไขความไว้ว่า –

pañca mahāpariccāgā: the five great sacrifices, i. e. the giving up of the most valuable treasures of wife, of children, of kingdom, of life and limb.

ปญฺจ มหาปริจฺจาคา: การบริจาคใหญ่ 5 อย่าง, คือ การเสียสละทรัพย์สมบัติที่มีคุณค่ามากที่สุด คือภรรยา, บุตรธิดา, อาณาจักร, ชีวิต และอวัยวะ 

…………..

อภิปราย :

ผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งคือ “เบญจมหาบริจาค” คือการบริจาคอย่างยิ่งใหญ่ห้าประการ

มีข้อเยื้องแย้งกันว่า ในจำนวน “ห้าประการ” ที่บริจาคนั้นมีอะไรบ้าง ตรวจดูในคัมภีร์อรรถกถา พบข้อมูลดังนี้ –

(1) สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์ทีฆนิกาย ภาค 1 หน้า 94 ระบุไว้ว่า –

องฺคปริจฺจาคํ  ธนปุตฺตทารชีวิตปริจฺจาคํ 

คือ สละอวัยวะ ทรัพย์ ลูก เมีย ชีวิต

และมีเชิงอรรถบอกว่า อรรถกถาฉบับพม่าระบุว่า –

นยนธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคํ  

คือ สละดวงตา ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย 

อรรถกถาฉบับยุโรประบุว่า –

องฺคนยนธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคํ 

คือ สละอวัยวะ ดวงตา ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย

(2) ปปัญจสูทนี อรรถกถาคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ภาค 1 หน้า 76 ระบุไว้ว่า –

องฺคปริจฺจาคํ  นยนธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคํ

คือ สละอวัยวะ ดวงตา ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย

และมีเชิงอรรถบอกว่า –

ปญฺจิเม  มหาปริจฺจาคา  กตฺถจิ  เอวํ  อาคตา  องฺคธนปุตฺตทารชีวิตปริจฺจาคาติ  ฯ  ฎีกายมฺปน  องฺคนยนธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคาติ  ฯ

ความว่า เบญจมหาบริจาคนี้ บางแห่งระบุว่า คือ สละอวัยวะ ทรัพย์ ลูก เมีย ชีวิต แต่คัมภีร์ฎีการะบุว่า คือ สละอวัยวะ ดวงตา ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย

(3) มโนรถปูรณี อรรถกถาคัมภีร์อังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 139 ระบุว่า –

องฺคปริจฺจาคํ  ชีวิตธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคํ

คือ สละอวัยวะ ชีวิต ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย

(4) มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์พุทธวงศ์ หน้า 28 ระบุว่า –

องฺคปริจฺจาคํ  ชีวิตปริจฺจาคํ  ธนรชฺชปุตฺตทารปริจฺจาคํ

คือ สละอวัยวะ ชีวิต ทรัพย์ ราชสมบัติ ลูก เมีย

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นผู้เฒ่า เรี่ยวแรงถดถอยลงไปมากแล้ว สืบค้นได้แค่นี้

นักเรียนบาลีที่ยังหนุ่มสาว เรี่ยวแรงรุ่งโรจน์ จะไม่ลองใช้วิชาบาลีที่อุตส่าห์สอบได้สืบค้นเรื่องราวต่างๆ ในคัมภีร์แล้วนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานดูบ้างหรือ?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สละสิ่งของภายนอกได้

: นั่นคือสละกิเลสภายในได้

#บาลีวันละคำ (3,919)

06-03-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *