บาลีวันละคำ

พินทุกัปปะ (บาลีวันละคำ 4,133)

พินทุกัปปะ

ศัพท์วิชาการทางวินัยพระ

อ่านว่า พิน-ทุ-กับ-ปะ

ประกอบด้วยคำว่า พินทุ + กัปปะ

(๑) “พินทุ

เขียนแบบบาลีเป็น “พินฺทุ” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า พิน-ทุ รากศัพท์มาจาก พิทิ (ธาตุ = ส่วน, อวัยวะ) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (พิทิ > พึทิ > พินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ (พิ)-ทิ (พิทิ > พิท)

: พิทิ > พึทิ > พินฺทิ > พินฺท + อุ = พินฺทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทำให้เป็นส่วน” 

พินฺทุ”(นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หยด, หยดน้ำ (a drop, a drop of water) 

(2) จุด, รอยแต้ม (a spot) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พินทุ ๑ : (คำนาม) หยาดเช่นหยาดนํ้า, จุด, จุดที่ใส่ไว้ใต้ตัวอักษร, จุดกลมแต้มที่หน้าผากระหว่างคิ้วของผู้หญิงตามลัทธิพราหมณ์, รูปวงเล็ก ๆ. (ป. พินฺทุ; ส. พินฺทุ, อินฺทุ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

พินทุ : จุด, วงกลมเล็กๆ ในที่นี้หมายถึงพินทุกัปปะ.

…………..

(๒) “กัปปะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “กปฺปฺ” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) ทำให้เป็น, เหมือน,  คล้ายคลึง (made as, like, resembling)

(3) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(4) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(5) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(6) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

บาลี “กปฺป” สันสกฤตเป็น “กลฺป” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กลฺป …; : (คำนาม) หนึ่งทิวากับหนึ่งราตรีของพรหม, เวลามีกำหนด ๔,๓๒๑,๐๐๐,๐๐๐ สูรยนักษัตรสังวัตสรกาลบอกสถิติของโลก, และบอกอันตรกาลแห่งความประลัยของโลก; ความประลัยของโลก; … a day and night oa Brahmā, a period of 4,321,000,000 solar-sidereal years, measuring the duration of the world, and the interval of its annihilation; a destruction of the world; …”

บาลี “กปฺป” ในภาษาตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งใช้เป็น “กัป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป).”

ในที่นี้ใช้เป็น “กัปปะ” ตามรูปเดิม และไม่ได้ใช้ตามความหมาย “กัป” หรือ “กัลป์” ในภาษาไทย แต่ใช้ตามความหมายของบาลีในข้อ (1) และ (2) ข้างต้น

พินฺทุ + กปฺป = พินฺทุกปฺป > พินทุกัปปะ 

ในภาษาไทยใช้เป็น “พินทุกัป” และ “พินทุกัปปะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พินทุกัป, พินทุกัปปะ : (คำนาม) การทำพินทุ คือ เขียนรูปวงที่มุมจีวรตามวินัยบัญญัติ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ. (ป. พินฺทุกปฺป).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า 

…………..

พินทุกัปปะ : การทำพินทุ, การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด ที่มุมจีวรด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย; เขียนพินทุกัป ก็ได้, คำบาลีเดิมเป็น กัปปพินทุ, เรียกกันง่ายๆ ว่า พินทุ 

…………..

ขยายความ :

เครื่องนุ่งห่มของพระที่เรียกว่า “ไตรจีวร” คือผ้าสามผืน ทุกผืนก่อนแต่จะใช้ มีพระวินัยบัญญัติให้ทำ “พินทุกัปปะ” ก่อน ความประสงค์ คือ –

๑ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิ 

๒ เป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้

“ทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิ” เป็นความมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อแสดงว่าบรรพชิตในพระพุทธศาสนาใช้เครื่องนุ่งห่มปอนๆ เพียงเพื่อป้องกันความละอาย ป้องกันหนาวร้อนเหลือบยุงเป็นต้น ไม่ต้องการความหรูหราสวยงาม

การทำพินทุกัปปะเป็นวินัยพระอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยนี้ไม่รู้ แต่ชาววัดต้องรู้และปฏิบัติตามให้ถูกต้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักษาวินัย

: หัวใจของการรักษาพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (4,133)

6-10-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *