บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครถูกหลอกในมหาเวสสันดรชาดก (๒)

ใครถูกหลอกในมหาเวสสันดรชาดก (๒)

————————————-

รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นตามเรื่องราวในมหาเวสสันดรชาดกนั้น กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ ประชานไม่เข้าใจนโยบายของผู้ปกครอง

ผู้ปกครอง-คือพระเวสสันดร-ใช้นโยบาย “ผูกมิตร” ให้ช้างเป็นทาน

ประชาชนเห็นเป็นการพล่าผลาญทรัพยากรของบ้านเมือง

นโยบาย “ผูกมิตร” นี่นับว่าประเสริฐที่สุดในการบริหารบ้านเมือง

ถ้าการผูกมิตรมั่นคงถึงขนาดแล้ว ผลอันดับแรก-ไม่มีสงคราม

สงครามนั่นแหละคือการพล่าผลาญทรัพยากรของบ้านเมืองอย่างมโหฬารที่สุด ทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน และอีกสารพัด

อันดับต่อไป-บ้านเมืองมีปัญหาอะไรที่เหลือกำลัง สามารถขอความช่วยเหลือเกื้อกูลจากพันธมิตรได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

ทั้งเขาช่วยเรา เราช่วยเขา

หนักเป็นเบา เบาเป็นสูญ

ผู้ปกครองของเราก็เคยใช้นโยบาย “ผูกมิตร” รักษาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของนักล่าอาณานิคมมาแล้ว ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยใจเป็นธรรมดูบ้างเถิด

……………………..

แต่ผู้ปกครองก็ต้องเคารพมติมหาชน

มหาชนขับไล่ พระเวสสันดรก็เคารพมติมหาชน ออกจากบ้านเมืองไปแต่โดยดี

เชื่อหรือไม่ว่า พระเวสสันดรวางแผนกลับคืนเมืองตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากเมือง

มหาชนอเปหิพระเวสสันดรองค์เดียว ไม่เกี่ยวถึงครอบครัว

แต่พระนางมัทรีขอติดตามไปด้วย หลายฝ่ายอ้างเหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องไป แต่พระนางก็จะไป

เมื่อพ่อแม่ไป ลูกก็ต้องไป

สองกุมารนี่คือหมากตัวสำคัญที่สุดที่จะนำพระเวสสันดรกลับคืนเมือง

เมื่อออกจากเชตุดร เป้าหมายรายทางแรกก็คือเจตรัฐ ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายผูกมิตร นั่นคือเอาเจตรัฐเป็นส่วนหนึ่งในแผนการกลับคืนเมือง

ยังไม่ได้สืบค้นว่า ตามลักษณะภูมิประเทศ เจตรัฐเป็นเมืองที่ต้องผ่านไปเขาวงกต หรือเป็นเมืองที่หาเรื่องผ่าน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พระเวสสันดรก็ตั้งใจไปที่นั่น พบปะเจตราช-ผู้ปกครองเมือง-ซึ่งมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันอยู่แล้ว และแน่นอน จะต้องมีการ “กระซิบกระซาบ” บอกแผนเป็นนัยๆ ให้รู้ว่าจะให้พันธมิตรช่วยอะไร เจตราชผู้ปกครองเจตรัฐก็เข้าใจดีและเต็มใจช่วย และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจตบุตรต้องเข้ามารับหน้าที่นายด่าน

เจตบุตรอาจทำหน้าที่นายด่านอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่บัดนี้ต้องรับภารกิจพิเศษ คือทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่จะผ่านเข้าไปถึงพระเวสสันดรให้ผ่านได้เฉพาะผู้มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการเท่านั้น

“คุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ” คืออะไร?

คือ-ต้องเป็นคนที่สามารถพาสองกุมารกลับไปเชตุดรได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

และชูชกคือผู้มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการนั้น

ตอนก่อนได้ยกหลักฐานมาให้ดูแล้วว่า “พฺยตฺตํ สุสิกฺขิตํ เจตปุตฺตํ” แปลว่า “เจตบุตรเป็นคนฉลาด มีการศึกษาดี” จึงถูกคัดเลือกมาให้ทำหน้าที่คัดกรอง

ผู้ที่ทำหน้าที่คัดกรองนี้ต้องถือว่าสำคัญที่สุด ถ้าปล่อยให้ใครก็ไม่รู้เข้าไปขอสองกุมารเอาไปเพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น สองกุมารก็จะไปไม่ถึงเชตุดร แผนทั้งหมดก็จะพังหมด

สายข่าวของเจตราชคงไม่ได้นั่งกระดิกขาอยู่กันนิ่งๆ แต่ต้องสืบทราบเรื่องราวและคุณสมบัติของชูชกมาแล้ว และเจตบุตรก็ต้องรับรู้ข้อมูลส่วนตัวของชูชกมาแล้วด้วย

ความโลภของชูชกเป็นคุณสมบัติที่ดีที่สุดเพื่อภารกิจพาสองกุมารกลับเมือง และความฉลาดในการเอาตัวรอดได้เป็นยอดเยี่ยม เป็นหลักประกันว่า ชูชกจะต้องนำ “สินค้า” ราคาแพงของตนไปส่งถึงตลาดอย่างปลอดภัยจนได้

ก็จึงถึงทีที่เจตบุตรจะต้องรับบทเป็นไอ้งั่งอะไรตัวหนึ่งให้เนียนที่สุด คือทำให้ชูชกตายใจว่า-นายด่านคนนี้โง่เง่าหลอกง่ายที่สุดเท่าที่เคยหลอกคนมา

แต่หารู้ไม่ว่าตัวเอง-คือชูชก-นั่นแหละที่ถูกหลอกอย่างเนียนที่สุดเข้าแล้ว

เจตบุตรพาชูชกชมนกชมไม้อย่างมีความสุขระหว่างชี้ทางไปวงกต – ไปเลยเจ้าขาคุณตาเจ้า ไปพาพระหลานเจ้าไปส่งพระเจ้าปู่ซะดีๆ-ตามแผน

เจตบุตรนำชูชกชมป่าแบบฉบับย่อ สมตามชื่อกัณฑ์จุลพน คือ “ป่าเล็ก” ส่วนชมป่าฉบับเต็มเป็นหน้าที่ของอัจจุตฤๅษีในกัณฑ์มหาพน คือ “ป่าใหญ่”

อัจจุตฤๅษีทำหน้าที่เป็นไม้สอง ตรวจสอบคุณสมบัติชูชกเป็นด่านสุดท้าย เมื่อแน่ใจว่าตรงสเป๊กแน่แล้วก็แกล้งโง่ให้ชูชกเชื่อว่า “หลอกพระโง่ๆ” ได้อีกองค์หนึ่ง เป็นอันเสร็จภารกิจ

ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพระเวสสันดรที่จะกระพือไฟแห่งความโลภให้ชูชก ด้วยการตีราคาสองกุมารไว้สูงลิ่ว ชูชกคำนวณแล้ว พาสองกุมารไปรับรางวัลจากพระเจ้ากรุงสญชัยคุ้มค่ากว่าที่จะพาไปเป็นข้าช่วงใช้

ทุกอย่างเข้าแผนอย่างราบรื่น

จนถึงบัดนั้น สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของแคว้นกาลิงคะก็คลี่คลายเพราะฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แคว้นกาลิงคะคืนช้างมงคลให้สีพีพร้อมคำขอบคุณและสัมพันธไมตรีที่แนบแน่นยิ่งขึ้น ถึงตอนนี้ คุณค่าของนโยบาย “ผูกมิตร” ก็ค่อยๆ ประจักษ์แก่ใจของมหาชน สองกุมารคืนเมืองเป็นตัวจุดประกายมติมหาชน มหาชนนั่นเองที่เรียกร้องให้ไปเชิญพระเวสสันดรกลับเมือง เรื่องก็แฮปปี้ เอนดิ้ง

และคนที่ถูกหลอกตัวจริงก็คือชูชก

เริ่มต้นก็ถูกนางอมิตตดาหลอกใช้ให้ไปขอสองกุมาร เพื่อตัวเองจะได้มีผัวใหม่ เพราะประเมินสถานการณ์แล้ว ชูชกไปคราวนี้ไม่ได้กลับแน่

ชูชกถูกอมิตตดาหลอก – เป็นคนที่หนึ่ง

จากนั้นก็ถูกเจตบุตรหลอกให้เชื่อว่าเป็นนายด่านโง่ๆ – เป็นคนที่สอง

ถูกอัจจุตฤๅษีหลอกให้เชื่อว่าเป็นพระโง่ๆ – เป็นคนที่สาม

ถูกพระเวสสันดรใช้ความโลภของตัวชูชกเองหลอกให้พาสองกุมารไปเมืองสีพี – เป็นคนที่สี่

ถูกพระเจ้ากรุงสญชัยสนองความโลภปูนบำเหน็จให้เสพเสวยสุขจนเกินกำลังจนตาย – เท่ากับหลอกเป็นคนที่ห้า

คล้ายๆ กับที่พูดกันว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล

ใช้งานชูชกเสร็จภารกิจแล้วก็ฆ่าชูชก

เพียงแต่ว่าเรื่องนี้ไม่มีใครฆ่าใคร เพราะชูชกฆ่าตัวเองด้วยความโลภ

สรุปคติจากเรื่องนี้ก็คือ

๑ อย่าโลภ

๒ ถ้ายังโลภอยู่ ก็ให้รู้จักเลือก อย่าโลภไม่เลือก

๓ คนฉลาดที่แท้จริงต้องโง่เป็น

๔ ผู้ปกครองและประชาชนต้องเข้าใจกันและกัน บ้านเมืองจึงจะสงบสุข

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เป็นมุมมองหรือแนวคิดของผม ญาติมิตรทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามนี้

เรื่องมหาเวสสันดรชากดมีแนวคิดอีกมาก ทั้งที่เคยคิดกันมาและที่จะคิดใหม่

หนังสือเล่มหนึ่งที่ควรอ่านอย่างยิ่งคือ “ปริทรรศน์มหาเวสสันดรชาดก” ของพระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีเถระ) เป็นหนังสือชวนให้ศึกษามหาเวสสันดรชาดกในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ นำให้เกิดสติปัญญา

ญาติมิตรท่านใดมีไฟล์ PDF ของหนังสือเล่มนี้ ชนิดที่จบบริบูรณ์เต็มเรื่องทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ขอความกรุณานำมาวางแปะไว้ให้ หรือปักป้ายชี้ทางให้ตามไปดาวน์โหลดได้ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มีนาคม ๒๕๖๖

๑๑:๐๑

……………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *