บาลีวันละคำ

ปลงอายุสังขาร (บาลีวันละคำ 3,921)

ปลงอายุสังขาร

คือทำอะไร

อ่านว่า ปฺลง-อา-ยุ-สัง-ขาน

ประกอบด้วยคำว่า ปลง + อายุ + สังขาร

(๑) “ปลง

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปลง : (คำกริยา) เอาลง เช่น ปลงหม้อข้าว, ปล่อยหรือเปลื้องให้พ้นไป (ในลักษณะที่รู้สึกว่าหนักอยู่) เช่น ปลงหาบ; เมื่อใช้ประกอบกับคําอื่น มีความหมายต่าง ๆ.”

(๒) “อายุ

อ่านว่า อา-ยุ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ 

หรือ –

: อิ + ณุ = อิณุ > อาณุ > (ณุ > อยุ : อา + อยุ = ) อายุ 

อายุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”

(๓) “สังขาร

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขาร” อ่านว่า สัง-ขา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง กรฺ เป็น ขรฺ, ทีฆะ อะ ที่ -(ร) เป็น อา (ขร > ขาร)

: สํ > สงฺ + กรฺ = สงฺกรฺ + = สงฺกรณ > สงฺกร > สงฺขร > สงฺขาร แปลตามศัพท์ว่า “ทำร่วมกัน” คือ “สภาวะอันปัจจัยปรุงแต่ง

สงฺขาร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ :

(1) สิ่งที่ถูกปรุงผสมขึ้นให้เห็นว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง แต่เมื่อแยกส่วนประกอบออกจากกันแล้ว “อะไรอย่างหนึ่ง” นั้นก็ไม่มี (compounded things; component things; conditioned things)

ความหมายนี้รวมไปถึง “ร่างกาย ตัวตน” (the physical body) ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

(2) อาการที่จิตคิดปรุงแต่งไปต่างๆ หรือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ ให้เป็นไปต่างๆ (mental formations; volitional activities)

ความหมายนี้ก็คือ 1 ในองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่รวมกันเข้าเป็นชีวิตคน ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

บาลี “สงฺขาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “สังขาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังขาร : (คำนาม) ร่างกาย, ตัวตน, สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน, เช่น สังขารร่วงโรย สังขารไม่เที่ยง; ความคิด เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (ป.; ส. สํสฺการ). (คำกริยา) ตาย เช่น ถึงซึ่งสังขาร, ในบทกลอนใช้ว่า สังขาร์ ก็มี.”

การประสมคำ :

อายุ + สงฺขาร = อายุสงฺขาร (อา-ยุ-สัง-ขา-ระ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “อายุสังขาร” (อา-ยุ-สัง-ขาน) แปลว่า “การปรุงอายุ” หมายถึง การทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป

ปลง + อายุสังขาร = ปลงอายุสังขาร แปลว่า “สละการปรุงอายุ” หมายถึง เลิกละวิธีการที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปลงอายุสังขาร” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ปลงอายุสังขาร : (คำกริยา) บอกกําหนดวันสิ้นสุดแห่งอายุ (ใช้แก่พระพุทธเจ้า).”

ขยายความ :

เมื่อวันเพ็ญเดือนมาฆะพรรษาสุดท้ายแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธองค์ทรง “ปลงอายุสังขาร” ตามคำทูลขอของมารที่ขอให้ปรินิพพาน ตรัสว่า อีก 3 เดือนแต่นี้จะปรินิพพาน

คำว่า “ปลงอายุสังขาร” แปลจากคำบาลีว่า “อายุสงฺขารํ  โอสฺสชฺชิ” (อา-ยุ-สัง-ขา-รัง โอด-สัด-ชิ) แปลว่า “ปลงแล้วซึ่งอายุสังขาร” หรือแปลงเป็นคำนามว่า “อายุสงฺขารโอสฺสชฺชน” (อา-ยุ-สัง-ขา-ระ-โอด-สัด-ชะ-นะ) แปลว่า “การปลงอายุสังขาร

เราเข้าใจกันตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “ปลงอายุสังขาร” คือ “บอกกําหนดวันสิ้นสุดแห่งอายุ” การบอกให้คนอื่นรู้ถึงวันสิ้นสุดแห่งอายุ เป็นเพียงบอกว่าจะปรินิพพานเมื่อไร เพียงคำบอกแค่นั้นยังไม่ใช่ความหมายของคำว่า “ปลงอายุสังขาร” 

ถ้าเช่นนั้น ความหมายจริงๆ ของ “ปลงอายุสังขาร” คือทำอะไร หรือทำอย่างไร?

คัมภีรสุมังคลวิลาสินี (อรรถกถาของทีฆนิกาย พระไตรปิฎก) ภาค 2 หน้า 260 ตอนอธิบายมหาปรินิพพานสูตร ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

ตตฺถ  น  ภควา  หตฺเถน  เลฑฺฑุํ  วิย  อายุสงฺขารํ  โอสฺสชฺชิ   ฯ  เตมาสมตฺตเมว  ปน  นิรนฺตรํ  สมาปตฺตึ  สมาปชฺชิตฺวา  ตโต  ปรํ  น  สมาปชฺชิสฺสามีติ  จิตฺตํ  อุปฺปาเทสิ  ฯ

…………..

อธิบายความว่า การปลงอายุสังขารนั้น ไม่ใช่เหมือนหยิบก้อนดินทิ้ง คืออายุสังขารเหมือนก้อนดิน ปลงคือหยิบก้อนดินทิ้งไป ไม่ใช่อย่างนั้น หากแต่หมายความว่า ทรงตั้งพระทัยว่า จากวันนั้นจักเข้าสมาบัติติดต่อกันเพียง 3 เดือนเท่านั้น ต่อแต่นั้นจักไม่เข้า นั่นคือ การเข้าสมาบัติทำให้สามารถดำรงพระชนม์ต่อไปได้ เมื่อไม่เข้าสมาบัติก็คือพระชนม์สิ้นสุดลง คือปรินิพพาน

นี่คือความหมายของ “ปลงอายุสังขาร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำประโยชน์แก่โลกเพียงหนึ่งวัน

: มีค่าอเนกอนันต์กว่าอยู่เปล่าๆ ไปร้อยปี

#บาลีวันละคำ (3,921)

08-03-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *