อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน (บาลีวันละคำ 3,920)
อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน
ภาษาในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
“เมาะ” คืออะไร?
“อิติ” เป็นคำบาลี
“อิมินา ปกาเรน” ก็เป็นคำบาลี
คำว่า “เมาะ” ที่แทรกอยู่ตรงกลางเป็นคำไทย
“คำไทย” หมายความว่าเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทย แต่จะมาจากคำอะไรในภาษาอะไร ต้องว่ากันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง
“เมาะ” แปลว่าอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เมาะ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) เมาะ ๑ : (คำนาม) ที่นอนทําคล้ายฟูก แต่ยัดนุ่นหลวม ๆ สําหรับเด็ก.
(2) เมาะ ๒ : (คำสันธาน) คือ.
(3) เมาะ ๓ : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Alocasia odora C. Koch ในวงศ์ Araceae ลําต้นอวบ ใบใหญ่ ก้านใบกินได้ มีมากทางภาคใต้.
“เมาะ” ในที่นี้คือ “เมาะ ๒” เป็นคำสันธาน แปลว่า “คือ”
นอกจากนี้ พจนานุกรมฯ ยังเก็บว่า “เมาะว่า” เป็นลูกคำของ “เมาะ ๒” เป็นคำสันธานเช่นเดียวกัน แปลว่า “คือว่า”
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ขยายความคำว่า “เมาะ”ไว้ดังนี้ –
…………..
เมาะ :
1.น. ที่นอนทำคล้ายฟูก แต่ยัดนุ่นหลวมๆ ใช้สำหรับเด็ก.
2.[ม่อ] สัน. คือ, คือว่า, บางทีออกเสียงเป็น หม้อ เป็นคำใช้ในภาษาบาลีเมื่อเทศน์จบว่า อิติเมาะ อิมินา ปกาเรน แปลว่า จบด้วยประการฉะนี้.
…………..
ได้ความเพิ่มเติมว่า “เมาะ” ที่เป็นคำสันธาน อ่านว่า ม่อ ไม่ได้อ่านว่า เมาะ ตามรูปคำอย่างที่ตาเห็น
สรุปว่า “เมาะ” อ่านว่า ม่อ แปลว่า คือ, คือว่า
ดังนั้น “อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน” ที่เป็นบาลีวันละคำวันนี้ จึง –
อ่านว่า อิ-ติ ม่อ อิ-มิ-นา ปะ-กา-เร-นะ
แปลว่า อิติ คือ อิมินา ปกาเรน
ขยายความ :
แล้ว “อิติ คือ อิมินา ปกาเรน” แปลว่าอะไร หรือหมายความว่าอะไร?
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ตอบไว้ให้แล้วว่า “อิติเมาะ อิมินา ปกาเรน แปลว่า จบด้วยประการฉะนี้”
คำตอบนี้สมควรต้องขยายความ
“อิติ” เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม
ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย
: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป”
ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –
(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้
(2) ว่าดังนี้
(3) ด้วยประการนี้
(4) ชื่อ
(5) คือว่า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –
(1) “thus” (เช่นนั้น)
(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)
(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)
เนื่องจากคำว่า “อิติ” แปลได้หลายอย่าง คัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระไตรปิฎก เช่น ชาตกัฏฐกถาที่อธิบายมหาเวสสันดรชาดกเป็นต้น ถ้ามีคำว่า “อิติ” ในพระไตรปิฎกบางแห่งที่อาจชวนให้สงสัยว่า จะแปลว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง ท่านก็จะแสดงความหมาย คือบอกคำแปลให้ เช่น –
อิตีติ อิมินา ปกาเรน ฯ (อิ-ตี-ติ อิ-มิ-นา ปะ-กา-เร-นะ)
แปลว่า ศัพท์ว่า “อิติ” คือ “อิมินา ปกาเรน”
หมายความว่า ในที่นี้ “อิติ” ให้แปลว่า “อิมินา ปกาเรน”
“อิมินา” แปลว่า “นี้”
“ปกาเรน” แปลว่า “ด้วยประการ”
“อิมินา ปกาเรน” แปลว่า “ด้วยประการฉะนี้”
สรุปว่า “อิติ” แม้จะแปลได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้ ให้แปลว่า “ด้วยประการฉะนี้”
คำว่า “อิตีติ อิมินา ปกาเรน” นี่เอง คนเก่าท่านเอามาพูดบอกวิธีแปลว่า “อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน”
(1) ตัวบท: “อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน”
(2) ความหมาย: “อิติ คือ อิมินา ปกาเรน”
(3) คำแปล: “อิติ ด้วยประการฉะนี้”
แถม :
“อิติ ด้วยประการฉะนี้” มีความหมายอย่างเดียวกับ “เอวํ” ที่ลงท้ายพระธรรมเทศนา คือ “เอวํ” แปลว่า “ด้วยประการฉะนี้”
เดิมที พระเทศน์ตามฉบับบาลีใบลาน คือเอาคัมภีร์บาลีมาอ่านแปลให้ญาติโยมฟัง พระเทศน์จึงต้องถือคัมภีร์ด้วย เป็นการยืนยันว่าเรื่องที่เทศน์เป็นเรื่องจากคัมภีร์ ไม่ใช่พูดเอาเอง
ข้อความที่เป็นภาษาบาลีนั้นตอนจบเรื่องจะมีคำว่า “เอวํ” อยู่ในประโยคสุดท้าย เมื่อถึงคำว่า “เอวํ” ซึ่งแปลเป็นคำสุดท้าย ท่านจึงแปลว่า “เอวํ ด้วยประการฉะนี้”
เอาคำบาลีมาเทียบกัน ก็ตรงกัน คือ
“เอวํ เมาะ อิมินา ปกาเรน”
“อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน”
แปลก็ตรงกัน คือ
“เอวํ ด้วยประการฉะนี้”
“อิติ ด้วยประการฉะนี้”
พึงทราบว่า “อิติ” ก็ดี “เอวํ” ก็ดี แปลว่า “ด้วยประการฉะนี้” (thus, in this way) ไม่ได้แปลว่า “จบ” (the end)
แต่เพราะเป็นคำสุดท้ายในข้อความที่แปล เมื่อแปลคำนี้แล้วก็จบความ เราจึงเข้าใจกันไปเองว่า “อิติ” หรือ “เอวํ” แปลว่า “จบ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางคน บอกเขาได้ว่า คุณเข้าใจผิดนะ
: แต่บางคน แค่รู้ทันว่าเขาเข้าใจผิด ก็พอ ไม่ต้องบอก
#บาลีวันละคำ (3,920)
7-3-66
…………………………….
…………………………….