บาลีวันละคำ

นพมาศ – ศรีจุฬาลักษณ์ (บาลีวันละคำ 550)

นพมาศศรีจุฬาลักษณ์

(คำเด่นในเพ็ญเดือนสิบสอง)

คำนี้ถ้าเทียบเป็นบาลีจะได้ดังนี้ –

นพ” บาลีเป็น “นว” (นะ-วะ) มีคำแปล 2 อย่าง คือ (1) ใหม่, สด, สะอาด, ยังหนุ่มยังสาว (2) จำนวนเก้า (ดูเพิ่มเติมที่ “นว” บาลีวันละคำ (237) 1-1-56)

มาศ” บาลีเป็น “มาส” (มา-สะ) แปลว่า เดือน (ส่วนของปี), ดวงจันทร์ และเป็นชื่อถั่วชนิดหนึ่ง (แปลกันว่า “ถั่วราชมาส”)

ในภาษาไทย “มาศ” หมายถึง ทอง เช่น “เมรุมาศ” (เม-รุ-มาด) = เมรุทอง (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “มาษวรฺทฺธก” แปลว่า สุวรรณการ a goldsmith อาจเป็นต้นเค้าให้เราแปล “มาศ” ว่า ทอง)

นพมาศ” ในที่นี้น่าจะแปลว่า “ทองเนื้อเก้า” เป็นคำที่ยกย่องผิวพรรณอันงามของสตรีว่า งามดั่งทอง

ศรี” บาลีเป็น “สิริ” (สิ-ริ) มีความหมายว่า มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, โชคดี (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า glory, glorious)

ในภาษาไทยใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย

ศรี” ในภาษาไทยยังหมายถึง “ผู้หญิง” ด้วย

จุฬา” บาลีเป็น “จูฬ” (จู-ละ) และ “จูฬา” (จู-ลา) แปลว่า จุกผม, มวยผม, หงอน, ปุ่ม, ยอด

จูฬ” แปลว่า เล็ก, น้อย (ใช้เทียบกับ “มหา” = ใหญ่) อีกด้วย

ลักษณ์” บาลีเป็น “ลกฺขณ” แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกำหนดหมาย” “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้น” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, รอย, คุณภาพ, ลักษณะ (ตรงตามที่ต้องการ), ปกติ (ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น)

ในภาษาไทย ถ้าใช้เป็น “ลักขณา” หมายถึง มีลักษณะดี หรืองาม

จุฬาลักษณ์” ชั้นเดิมน่าจะหมายถึงนางที่เกล้าผมงามเด่นเป็นสง่า ต่อมาจึงหมายถึงสตรีผู้มีความงามยอดเยี่ยม

พจน.42 มีคำว่า “จุฬาลักษณ์” บอกไว้ว่า “มีลักษณะเลิศ, โฉมงาม

อธิบายคำว่า นพมาศศรีจุฬาลักษณ์ ในแง่ภาษาพอให้เข้าใจความหมายของคำอนุรูปตามกาลสมัย

ส่วนนางนพมาศ – ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คือใคร เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีจะพึงศึกษาสืบค้นตามอัธยาศัย

: ฝากท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไปไหว้พระบาท

: ฝากนางนพมาศไปไหว้แม่คงคา

: น้ำจริงน้ำใจ ขอให้ใสสะอาด

: เดินตามรอยบาทของพระศาสดา – เทอญ

17-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย