วาสนาที่ตัดไม่ขาด (บาลีวันละคำ 1,048)
วาสนา –
ที่ตัดไม่ขาด
“วาสนา” ภาษาไทยอ่านว่า วาด-สะ-หฺนา
บาลีอ่านว่า วา-สะ-นา
“วาสนา” รากศัพท์มาจาก –
(1) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ยุ ปัจจัย + อา (ปัจจัยอิตถีลิงค์), ทีฆะต้นธาตุ คือ อ ที่ ว– เป็น อา, แปลง ยุ เป็น อน
: วสฺ > วาส + ยุ > อน = วาสน + อา = วาสนา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ในจิต”
(2) วาสฺ (ธาตุ = อบ, บ่ม) + ยุ ปัจจัย + อา (ปัจจัยอิตถีลิงค์), แปลง ยุ เป็น อน
: วาส + ยุ > อน = วาสน + อา = วาสนา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาบ่มเพาะมา”
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาสนา : บุญบารมี, กุศลที่ทําให้ได้รับลาภยศ, เช่น เด็กคนนี้มีวาสนาดี เกิดในกองเงินกองทอง, มักใช้เข้าคู่กับคำ บุญ หรือ บารมี เป็น บุญวาสนา หรือ วาสนาบารมี เช่น เป็นบุญวาสนาของเขา เขาเป็นคนมีวาสนาบารมีมาก”
ความหมายเดิมในบาลี “วาสนา” คือ อุปนิสัย หรือ บุญบาปที่อบรมมา
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วาสนา” ว่า that which remains in the mind, tendencies of the past, impression (สิ่งที่เหลืออยู่ในใจ, แนวโน้มของอดีต, ความฝังใจหรือประทับใจ)
ขยายความว่า กิริยาอาการหรือลักษณะการพูดจาเป็นต้น ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษหรือเฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานาน ถึงข้ามภพข้ามชาติ จนเคยชินติดเป็นพื้นนิสัยประจำตัวและแก้ไม่หายทั้งๆ ที่จิตเจตนามิได้ต้องการเป็นเช่นนั้น เช่น กิริยาเรียบร้อยหรือหลุกหลิก คำพูดกระโชกโฮกฮากหรือนุ่มนวล คำติดปากที่หยาบหรือสุภาพ เป็นต้น เหล่านี้คือความหมายของ “วาสนา” ในบาลี
ในทางธรรม “วาสนา” เป็นส่วนที่แนบอยู่กับ “กิเลส”
กิเลส อุปมาเหมือนพญามาร
วาสนา อุปมาเหมือนเสนามาร
พระอริยบุคคลตัดกิเลสได้ตามภูมิชั้น จนถึงพระอรหันต์ตัดกิเลสหมดสิ้น แต่ตัดวาสนาได้ไม่หมดทุกอย่าง
พระอรหันต์บางองค์มีกิริยาหลุกหลิก บางองค์พูดคำหยาบติดปาก ทั้งนี้ไม่มีผลเป็นดีเป็นชั่วสำหรับตัวท่านเพราะไม่ใช่เกิดจากกิเลส แต่เกิดจาก “วาสนาที่ตัดไม่ขาด”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ประมวลความหมายของ “วาสนา” ไว้ดังนี้ (ในที่นี้จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านง่าย) :
วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น
ท่านขยายความว่า วาสนาที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วก็มี
ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ
แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย กับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ
ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้
จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา;
ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ.
…………
: กิเลสเหมือนป่า วาสนาเหมือนไม้
: ป่ารกก็ถางป่า เหลือพฤกษาไว้ประดับไพร
: ตัดกิเลสสิ้นภพจบชาติ
: ถึงวาสนาจะตัดไม่ขาด ก็ไม่มีอะไรมาบาดหัวใจ
—————
(ตามคำอาราธนาของ Koson Teenasuan ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณาเทอญ)
1-4-58