บาลีวันละคำ

ธัมเมกขสถูป (บาลีวันละคำ 3,922)

ธัมเมกขสถูป อนุสรณ์สถานผู้เห็นธรรม

อ่านว่า ทำ-เมก-ขะ-สะ-ถูบ

(น่าจะ) แยกศัพท์เป็น ธัมม + อิกข + สถูป

(๑) “ธัมม”

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”

“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ธัมม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (4) (ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม)

(๒) “อิกข”

เขียนแบบบาลีเป็น “อิกฺข” (มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์มาจาก อิกฺข (ธาตุ = เห็น) + อ (อะ) ปัจจัย

: อิกฺข + อ = อิกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเห็น” (2) “ผู้เห็น” หมายถึง เห็น, ผู้เห็น (seeing, one who sees)

(๓) “สถูป”

เป็นรูปคำสันสกฤต รูปบาลีเป็น “ถูป” อ่านว่า ถู-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ถุ (ธาตุ = สรรเสริญ, ชมเชย) + ป ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ถุ เป็น อู (ถุ > ถู)

: ถุ + ป = ถุป > ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนสรรเสริญบูชา”

(2) ถูปฺ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อ (อะ) ปัจจัย

: ถูปฺ + อ = ถูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ก่อตัวขึ้น”

“ถูป” (ปุงลิงค์) หมายถึง สถูปหรือสตูป, เจดีย์, เนิน, โคก, กองหินที่ระลึก, ฮวงซุ้ย; โดม (a stupa or tope, a bell-shaped pile of earth, a mound, tumulus, cairn; dome)

บาลี “ถูป” สันสกฤตเป็น “สฺตูป”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) สฺตูป, สฺถูป : (ธาตุ) รวบรวม, พูนหรือกองขึ้นไว้; to collect, to heap.

(2) สฺตูป : (คำนาม) นิกร, กองดิน ฯลฯ.; a heap , a pile of earth, &c.

ในภาษาไทย คำนี้เราคุ้นกับรูปคำ “สถูป” มากกว่ารูปอื่น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สถูป : (คำนาม) สิ่งก่อสร้างที่มีรูปโอคว่ำซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชามีกระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้น, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ เจดีย์ เป็น สถูปเจดีย์ เช่น เดินเวียนเทียนรอบพระสถูปเจดีย์. (คำแบบ) สดูป, สตูป. (ป. ถูป; ส. สฺตูป).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

“สถูป : สิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่นๆ เช่น พระสารีริกธาตุ อัฐิแห่งพระสาวก หรือกระดูกแห่งบุคคลที่นับถือ (บาลี: ถูป, สันสกฤต: สฺตูป).”

การประสมคำ :

๑ ธมฺม + อิกฺข แผลง อิ เป็น เอ

: ธมฺม + อิกฺข = ธมฺมิกฺข > ธมฺเมกฺข (ทำ-เมก-ขะ) แปลว่า “ผู้เห็นธรรม”

๒ : ธมฺเมกฺข + ถูป = ธมฺเมกฺขถูป (ทำ-เมก-ขะ-ถู-ปะ) แปลว่า “สถูปเป็นที่ระลึกถึงผู้เห็นธรรม”

“ธมฺเมกฺขถูป” ใช้แบบไทยอิงรูปสันสกฤตเป็น “ธัมเมกขสถูป” (ทำ-เมก-ขะ-สะ-ถูบ)

อภิปรายขยายความ :

“ธัมเมกขสถูป” เป็นโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาอยู่ที่อิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ ใกล้เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย

คำว่า “ธัมเมกขสถูป” ตามที่แสดงรากศัพท์มานี้ เป็นไปตามที่ตาเห็นซึ่งอาจแยกศัพท์ได้เช่นนี้ แต่รูปศัพท์จริงๆ เป็นอย่างไรและมีความหมายอย่างไร ควรหาข้อยุติทางวิชาการอื่นๆ อีก เช่นทางโบราณคดีเป็นต้น ซึ่งอาจถกเถียงกันไปได้หลายทาง ใครมีหลักฐานที่ต่างไปจากนี้ก็สามารถนำมาแสดงได้ เป็นการช่วยกันศึกษาหาข้อยุติที่ถูกต้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผ่นจารึกที่ทางการอินเดียทำไว้ที่สถูปแห่งนี้มีข้อความบอกว่า ชื่อเก่าของสถูปนี้ คือ “DHARMA CHAKRA STUPA” ถอดเป็นคำที่เราคุ้นกันก็คือ “ธรรมจักรสถูป” เป็นอันยุติได้ว่า สถูปแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงการแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ธัมมจักกัปวัตตนสูตร” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

ธัมมจักกัปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้สองเดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลางอันเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้วได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่าเป็นปฐมสาวก

…………..

ความที่ว่า “ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้วได้ดวงตาเห็นธรรม” ย่อมสอดคล้องกับความหมายของคำว่า “ธัมเมกขสถูป” ที่หมายถึง “สถูปเป็นที่ระลึกถึงผู้เห็นธรรม”

เมื่อพิจารณาตามความหมายของศัพท์ น้ำหนักของสถูปแห่งนี้ก็จะไปตกแก่ท่านโกณฑัญญะ

กล่าวคือ อิสิปตนมฤคทายวันเป็นสถานที่แสดงพระธรรมจักรอันเป็นปฐมเทศนา เป็นสังเวชนียสถาน 1 ใน 4 ตามที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร

แต่เฉพาะ “ธัมเมกขสถูป” ซึ่งสร้างไว้ในบริเวณอิสิปตนมฤคทายวันเป็นอนุสรณ์สถานเครื่องระลึกถึงท่านโกณฑัญญะ ผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นปฐมสาวก ณ สถานที่ตรงนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ทุกครั้งที่มีโอกาสไปไหว้ธัมเมกขสถูป

จงถือโอกาสบอกตัวเองว่า –

: เขาสร้างสถูปให้ผู้เห็นธรรม

: ไม่ได้สร้างให้ผู้ไหว้สถูป

#บาลีวันละคำ (3,922)

09-03-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *