โฆษณา-ประชาสัมพันธ์ (บาลีวันละคำ 551)
โฆษณา-ประชาสัมพันธ์
(บาลีไทย)
“โฆษณา” (พจน.42 ให้อ่านว่า โคด-สะ-นา) บาลีเป็น “โฆสนา” อ่านว่า โค-สะ-นา รากศัพท์คือ ฆุส (ธาตุ = ส่งเสียง) + ยุ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
– แปลง ยุ เป็น อน : ฆุส + ยุ > อน = ฆุสน
– แปลง อุ ที่ ฆุ เป็น โอ : ฆุสน > โฆสน
– ยืดเสียง อ ที่ น เป็น อา เพื่อให้เป็นอิตถีลิงค์ : โฆสน > โฆสนา
“โฆสนา” สันสกฤตเป็น “โฆษณา” (บาลี ส เสือ, น หนู สันสกฤต ษ ฤๅษี, ณ เณร ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤต) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง” หมายถึง การประกาศ, การบอกกล่าว, การกระจายข่าว
“ประชาสัมพันธ์” = ประชา + สัมพันธ์
“ประชา” บาลีเป็น “ปชา” สันสกฤตเป็น “ปฺรชา” ไทยเขียนอิงสันสกฤต
“ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” หมายถึง คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ (ดูเพิ่มเติมที่ “ประชาชน” บาลีวันละคำ (466) 24-8-56)
“สัมพันธ์” บาลีมาจาก สํ + พนฺธ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม = สมฺพนฺธ (สำ-พัน-ทะ) แปลว่า การเกี่ยวเนื่องกัน, การเกี่ยวข้อง, ความสัมพันธ์, การผูกพันกัน
“ประชาสัมพันธ์” (เทียบบาลีเป็น “ปชาสมฺพนฺธ” แต่ไม่พบศัพท์ที่ควบกันเช่นนี้ในคัมภีร์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้องกับผู้คน”
พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้
– โฆษณา : เผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน; ป่าวร้อง, ป่าวประกาศ, เช่น โฆษณาสินค้า; (ภาษากฎหมาย) กระทําการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
– ประชาสัมพันธ์ : ติดต่อสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันถูกต้องต่อกัน
ข้อสังเกต
1. “ประชาสัมพันธ์” แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้องกับผู้คน” แต่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงการบอกกล่าวเรื่องราวข่าวสาร ซึ่งเป็นความหมายของ “โฆษณา”
2. “โฆษณา” เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงการอวดสรรพคุณของสินค้า บริการ กิจการ รวมทั้งตัวบุคคล
จึงมีผู้แยกความแตกต่างระหว่าง “โฆษณา” กับ “ประชาสัมพันธ์” ไว้ว่า
– โฆษณา > มีเจตนาจะบอกให้เชื่อ
– ประชาสัมพันธ์ > มีเจตนาจะบอกให้รู้
: คำโฆษณาประชาสัมพันธ์แม้จะไพเราะเพราะพริ้ง
ก็ไม่สามารถทำเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้
18-11-56