บาลีวันละคำ

วิเสสนะ (บาลีวันละคำ 4,128)

วิเสสนะ

ต้องมี “เพศ” ตรงกับตัวผู้พูด

อ่านว่า วิ-เส-สะ-นะ

วิเสสนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิเสสน” อ่านว่า วิ-เส-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิสฺ (ธาตุ = ทำให้วิเศษ, ทำให้แตกต่าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิส > เสส)

: วิ + สิสฺ = วิสิสฺ + ยุ > อน = วิสิสน > วิเสสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำที่ทำให้แจ้ง” (2) “คำที่ทำให้ต่าง” หมายถึง คำที่ทำให้รู้ว่า คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เป็นต้นนั้นๆ มีลักษณะอย่างไร ต่างจากสิ่งอื่นอย่างไร หรือแม้ในพวกเดียวกันต่างกันเองอย่างไร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิเสสน” ว่า distinguishing, distinction, qualification, attribute (แสดงให้เป็นเห็นความแตกต่าง, ความแตกต่างกันหรือความดีพิเศษ, คุณสมบัติ, คุณลักษณะ)

ขยายความ :

ยกตัวอย่างจะเข้าใจได้ทันที เช่น – 

อุจฺโจ รุกฺโข” (อุด-โจ รุก-โข)

อุจฺโจ” แปลว่า “สูง” 

รุกโข” แปลว่า “ต้นไม้

อุจฺโจ รุกฺโข” แปลว่า “ต้นไม้สูง” 

อุจฺโจ” คือ “วิเสสนะ” แสดงลักษณะของ “รุกฺโข” (ต้นไม้) ให้รู้ว่า ต้นไม้ “สูง” 

นักเรียนบาลีพูดว่า “อุจฺโจ” เป็น “วิเสสนะ” ของ “รุกฺโข” หรือพูดลัดๆ ว่า “อุจฺโจ วิเสสนะ ของ รุกฺโข”

หลักสำคัญของ “วิเสสนะ” ก็คือ ต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ให้เหมือนกับคำนามที่ตนขยาย หรือ “นามที่เป็นเจ้าของ” 

“อุจฺโจ” เป็น “วิเสสนะ” ของ “รุกฺโข”

“รุกฺโข” คือ “นามที่เป็นเจ้าของ” ของ “อุจฺโจ” 

“รุกฺโข” รูปคำเดิมเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ) เป็นปุงลิงค์ เป็นประธานในประโยค จึงต้องแจกด้วยปฐมาวิภัตติ 

ต้นไม้” ต้นเดียว จึงเป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) 

รุกฺข” ปุงลิงค์ เอกวจนะ ปฐมาวิภัตติ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “รุกฺโข” 

อุจฺโจ” รูปคำเดิมเป็น “อุจฺจ” (อุด-จะ) ประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ให้เหมือนกับคำนามที่ตนขยายตามกฎของ “วิเสสนะ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อุจฺโจ

แถม :

“บทแผ่เมตตาให้ตัวเอง” ในหนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เผยแพร่กันทั่วไป เฉพาะคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็นดังนี้ –

อหํ สุขิโต โหมิ,

นิทฺทุกฺโข โหมิ,

อเวโร โหมิ,

อพฺยาปชฺโฌ โหมิ,

อนีโฆ โหมิ,

สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ.

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

อะหัง สุขิโต โหมิ,

นิททุกโข โหมิ,

อะเวโร โหมิ,

อัพ๎ยาปัชโฌ โหมิ,

อะนีโฆ โหมิ,

สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ.

จะเห็นได้ว่า สุขิโต, นิทฺทุกฺโข, อเวโร, อพฺยาปชฺโฌ, อนีโฆ ล้วนเป็นรูปคำปุงลิงค์ 

ประธานในประโยค คือ “อหํ” (อะ-หัง) แปลว่า “ข้าพเจ้า” 

บ่งบอกให้รู้ว่า “ข้าพเจ้า” ในที่นี้เป็นปุงลิงค์ คือผู้พูดเป็นผู้ชาย ถ้าผู้แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นผู้ชาย ก็ไม่มีปัญหา ว่าตามนี้ได้เลย 

แต่ถ้าผู้แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นผู้หญิง จะว่าอย่างไร? 

ถ้าผู้แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นผู้หญิง ก็ต้องเปลี่ยนบท “วิเสสนะ” ให้เป็นคำเพศหญิงตามกฎของ “วิเสสนะ” ที่ว่า “ต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ให้เหมือนกับคำนามที่ตนขยาย” 

“คำนามที่ตนขยาย” ในที่นี้คือ “อหํ” ซึ่งในกรณีที่ผู้แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นผู้หญิง “อหํ” ก็เป็นอิตถีลิงค์ หมายถึง “ข้าพเจ้า” ที่เป็นผู้หญิง (โปรดเทียบกับ I ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เหมือนกันทั้งชายและหญิง)

เมื่อประธาน คือ “อหํ” เป็นอิตถีลิงค์ “วิเสสนะ” คือคำขยายประธานก็ต้องเป็นอิตถีลิงค์

สุขิโต” เปลี่ยนเป็น “สุขิตา

นิทฺทุกฺโข” เปลี่ยนเป็น “นิทฺทุกฺขา

อเวโร” เปลี่ยนเป็น “อเวรา

อพฺยาปชฺโฌ” เปลี่ยนเป็น “อพฺยาปชฺฌา

อนีโฆ” เปลี่ยนเป็น “อนีฆา

แต่หนังสือสวดมนต์ทุกสำนักที่พิมพ์เผยแพร่ ไม่มีสำนักไหนบอกให้เปลี่ยน

ผู้แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นผู้หญิง ก็ยังคงพูดว่า อหํ สุขิโต โหมิ นิทฺทุกฺโขอเวโรอพฺยาปชฺโฌอนีโฆ โหมิ .. อันเป็นคำที่ผู้ชายพูด 

พอเทียบได้กับ-ผู้หญิงใช้สรรพนามแทนตัวว่า “ผม” ใช้คำรับว่า “ครับ” – นั่นเอง พูดเล่นสนุกๆ ได้ แต่พูดจริง ผิดกาลเทศะ 

“บทแผ่เมตตาให้ตัวเอง” เป็นบทที่ต้องพูดจริง ไม่ใช่พูดเล่น 

เวลานี้ สตรีที่นิยมสวดมนต์ตามหนังสือก็เลยสวดบทแผ่เมตตาให้ตัวเองของผู้ชายกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้วิเสสนะผิด ก็แผ่เมตตาได้

: แต่แผ่เมตตาได้ด้วย ใช้วิเสสนะถูกด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (4,128)

1-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *