ฉันทามติ (บาลีวันละคำ 552)
ฉันทามติ
(บาลีไทย-คลาดเคลื่อน)
ประกอบด้วย ฉันทา + มติ
“ฉันทา” บาลีเป็น “ฉนฺท” แปลว่า ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความมีใจรักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ดูเพิ่มเติมที่ “ฉันท์–ฉัน” บาลีวันละคำ (488) 15-9-56)
“มติ” บาลีก็เป็น “มติ” แปลว่า ความรู้, ความเห็น, ความคิด, จิตใจ, การคิดถึง
ความหมายในภาษาไทย พจน.๔๒ บอกไว้ว่า
– ฉันท-, ฉันท์, ฉันทะ : ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน เช่น ลงมติเป็นเอกฉันท์, ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น มอบฉันทะ
– มติ : ความเห็น, ความคิดเห็น, เช่น ที่ประชุมลงมติ มติของข้าพเจ้า, ความรู้; ข้อวินิจฉัยญัตติที่เสนอต่อที่ประชุม
ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้เขียนไว้ว่า ผู้ที่คิดคำว่า “ฉันทามติ” ได้นำคำว่า “ฉันท” ซึ่งแปลว่าความพอใจ มาเข้าสมาสกับคำว่า “มติ” เพื่อให้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า consensus (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=381)
ถ้าเป็นตามนี้ ฉันท + มติ ก็ควรเป็น “ฉันทมติ” (ฉัน-ทะ-มะ-ติ) ไม่ใช่ “ฉันทามติ” (ฉัน-ทา-มะ-ติ) เพราะตามหลักไวยากรณ์ ฉันท + มติ ไม่มีกฎที่จะทำให้ “ฉันท-” กลายเสียงเป็น “ฉันทา-”
“ฉันทะ” ประสมกับคำอื่น จะกลายเสียงเป็น ฉันทา- ได้ คำที่มาประสมจะต้องขึ้นต้วยสระ อะ ตัวอย่างเช่น
– “ฉันทาคติ” มาจาก ฉันท + อคติ (= ความลําเอียง) คำหลังคือ “อคติ” ขึ้นต้นด้วยสระ อ- มีกฎให้ยืดเสียงเป็น อา- ดังนั้น ฉันท + อคติ > อาคติ = ฉันทาคติ แปลว่า ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ชอบใจ
– “ฉันทานุมัติ” มาจาก ฉันท + อนุมัติ (= เห็นชอบ, เห็นตาม) “อนุมัติ” ขึ้นต้นด้วยสระ อ- จึงใช้กฎเดียวกัน : ฉันท + อนุมัติ > อานุมัติ = ฉันทานุมัติ แปลว่า ความเห็นชอบตามโดยความพอใจ, การได้รับมอบหมายด้วยความเต็มใจ
สรุปว่า เสียง อา ที่ ฉันทา เกิดจากเสียง อะ (ที่ยืดเป็น อา) ที่พยางค์ต้นของคำหลัง
ฉันท + มติ “มติ” ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยสระ อ- จึงไม่มีกฎที่จะทำให้ ฉันท- กลายเป็น ฉันทา- ได้
ฉันท + มติ = ฉันทมติ แปลโดยประสงค์ว่า “มติ (ที่เกิดจาก) ความพอใจ(ร่วมกัน)”
ฉันท + มติ = ฉันทามติ ถ้าจะขืนให้แปล ต้องแปลว่า “มติที่ลําเอียงเพราะรักใคร่ชอบใจ” ซึ่งน่าจะไม่ใช่ความหมายที่ต้องการ
คำนี้จึงเป็นบาลีไทยที่คลาดเคลื่อน เป็นคำสมาสนอกกฎที่เกิดจากแนวเทียบผิด หรือพูดกันตรงๆ ก็คือ เกิดจากความไม่รู้
: ความรู้ไม่เคยทำให้คนยึดถูกเป็นผิด
: แต่ความไม่รู้ ทำให้คนยึดผิดเป็นถูก
19-11-56