บาลีวันละคำ

เข้ารีต (บาลีวันละคำ 3,923)

เข้ารีต

คือทำอะไร

อ่านว่า เข้า-รีด

ประกอบด้วยคำว่า เข้า + รีต

(๑) “เข้า

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “เข้า” ไว้ดังนี้ – 

(๑) (คำกริยา) อาการที่เคลื่อนไปข้างในหรือทำให้เคลื่อนไปข้างใน เช่น เข้าบ้าน เข้าถํ้า เอาหนังสือเข้าตู้, เคลื่อนมาสู่, มาถึง, เช่น รถด่วนเข้า ๑๐ นาฬิกา พระศุกร์เข้า, สิง เช่น ผีเข้า เจ้าเข้า

(๒) (คำกริยา) ใส่, บรรจุ, เช่น เข้าหีบ

(๓) (คำกริยา) ประสม, แทรก, เช่น เข้ายาดำ

(๔) (คำกริยา) รวม เช่น เข้าหุ้น เข้าทุน, รวมเป็นพวก เช่น เข้าพรรค เข้าแถว เข้าข้าง

(๕) (คำกริยา) ถูกกัน, ลงรอยกัน, ทำให้ลงรอยกัน, เหมาะเจาะ, เช่น เสียงเข้ากัน เข้าไม้

(๖) (คำกริยา) เริ่ม เช่น เข้าเรียน, เริ่มทำงาน เช่น โรงเรียนเข้า, เริ่มอยู่ในภาวะ เช่น เข้าโรงเรียน เข้าทำงาน.

(๗) (คำวิเศษณ์) ตรงข้ามกับ ออก เช่น ทางเข้า ขาเข้า

(๘) (คำวิเศษณ์) ใช้ประกอบคำอื่นแสดงความหมายเร่งรัด เช่น เร็วเข้า คิดเข้า, ใช้ประกอบคำอื่นแสดงความหมายมากขึ้น เช่น หนักเข้า ดึกเข้า นานเข้า, ใช้ประกอบคำอื่นแสดงสภาพหรือความรู้สึกที่เกิดมีขึ้น เช่น พอสวยเข้าก็มีหนุ่ม ๆ มารุมจีบ พอเหนื่อยเข้าก็อยากจะเลิกทำ, ใช้ประกอบคำอื่นแสดงความหมายว่าหนุนให้ทำ (มักใช้ในความประชดประชัน) เช่น เอาเข้าไป ว่าแล้วยังไม่ยอมหยุด.

(๒) “รีต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

รีต : (คำนาม) เยี่ยงอย่าง, แบบแผน, ประเพณี, เช่น นอกรีต. (เทียบ ป. จาริตฺต; ส. จาริตฺร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “เทียบ ป. จาริตฺต” หมายความว่า คำว่า “รีต” ถ้าเทียบกับคำบาลีก็คือ “จาริตฺต” 

ภาษาไทยมีคำว่า “จารีต” (จา-รีด) อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จารีต : (คำนาม) ประเพณีที่ถือสืบต่อกันมานาน. (ป. จาริตฺต; ส. จาริตฺร).”

ที่คำว่า “จารีต” นี้ พจนานุกรมฯ บอกว่า “ป. จาริตฺต” หมายความว่า คำว่า “จารีต” ตรงกับคำบาลีว่า “จาริตฺต

สรุปว่า “รีต” และ “จารีต” บาลีเป็น “จาริตฺต

จาริตฺต” บาลีอ่านว่า จา-ริด-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ” (ธาตุ = ประพฤติ, บำเพ็ญ, ศึกษา) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + ), ทีฆะ อะ ที่ -(ร) เป็น อา (จรฺ > จาร), แปลง เป็น ตฺต 

: จร + อิ + = จริต > จาริต = จาริตฺต แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ประพฤติกันมาแล้ว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จาริตฺต” ว่า practice, proceeding, manner of acting, conduct (การปฏิบัติ, กรรมพิธี, วิธีการ, พฤติกรรม, จารีต)

จาริตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จารีต” แล้วตัดคำลงเหลือแต่ “รีต

เข้า + รีต = เข้ารีต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

“เข้ารีต : (คำวิเศษณ์) เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น. (คำนาม) เรียกผู้เปลี่ยนไปถือคริสต์ศาสนาส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิกว่า ผู้เข้ารีต เช่น ญวนเข้ารีต.”

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า คำว่า “เข้ารีต” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ ไม่ใช่คำกริยา คือ “เข้า” ในคำนี้ไม่ใช้ “เข้า” ในความหมายว่า “อาการที่เคลื่อนไปข้างใน” ดังจะว่า “รีต” เป็นสถานที่หรืออะไรอย่างหนึ่ง แล้วก็มีคนเข้าไปอยู่ในรีตนั้น จึงเรียกว่า “เข้ารีต” – ไม่ใช่อย่างนี้

แต่ “เข้ารีต” หมายถึง “เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น” 

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังชวนให้วาดเป็นภาพว่า เดิมอยู่ในศาสนาหนึ่งคืออยู่ใน “รีต” หนึ่ง ต่อมาก็ “ออก” จากรีตเดิมนั้น แล้วก็ไป “เข้า” อยู่ในรีตอื่นคือในศาสนาอื่น จึงเรียกว่า “เข้ารีต”

แถม :

ถามว่า คนที่เคยนับถือศาสนาอื่น แล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เรียกว่า “มาเข้ารีตเป็นพุทธ” ดังนี้ ถูกต้องหรือไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เข้ารีตได้

: แต่อย่านอกรีต

#บาลีวันละคำ (3,923)

10-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *