บาลีวันละคำ

วิตก – ปริวิตก (บาลีวันละคำ 3,926)

วิตกปริวิตก

คำที่ความหมายเคลื่อนที่

อ่านว่า วิ-ตก / ปะ-ริ-วิ-ตก

(๑) “วิตก” 

บาลีเป็น “วิตกฺก” อ่านว่า วิ-ตัก-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + (อะ) ปัจจัย

: วิ + ตกฺก + = วิตกฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิตกฺก” ว่า reflection, thought, thinking (ความรำพึง, ความคิด, ความตรึกตรอง)

บาลี “วิตกฺก” (วิ-ตัก-กะ) ภาษาไทยใช้เป็น “วิตก” (วิ-ตก) 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “วิตก” ว่า to worry, to be anxious

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งทำไม่ได้แปล “วิตกฺก” ว่า to worry, to be anxious

(๒) “ปริวิตก” 

บาลีเป็น “ปริวิตกฺก” อ่านว่า ปะ-ริ-วิ-ตัก-กะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + (อะ) ปัจจัย 

: ปริ + วิ + ตกฺกฺ = ปริวิตกฺกฺ + = ปริวิตกฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด คือยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์โดยรอบด้าน” หมายถึง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริวิตกฺก” ว่า reflection, meditation, thought, consideration (การตรึกตรอง, การใคร่ครวญ, ความคิด, การพิจารณา) 

บาลี “ปริวิตกฺก” (ปะ-ริ-วิ-ตัก-กะ) ภาษาไทยใช้เป็น “ปริวิตก” (ปะ-ริ-วิ-ตก) 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “ปริวิตก” ว่า to worry

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งทำก็ไม่ได้แปล “ปริวิตกฺก” ว่า to worry

ขยายความ :

วิตก” และ “ปริวิตก” เป็นศัพท์ทางธรรมะ ขอยกความหมายจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เทียบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพื่อเป็นแนวทางศึกษาหาความเข้าใจ ดังนี้ –

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ –

วิตก : ความตรึก, ตริ, การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕), การคิด, ความดำริ; ไทยใช้ว่าเป็นห่วงกังวล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ –

วิตก, วิตก– : เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล, เช่น วิตกว่าจะเกิดสงคราม, มักใช้เข้าคู่กับคำกังวล เป็น วิตกกังวล เช่น อย่าวิตกกังวลไปนักเลยพรุ่งนี้สถานการณ์คงจะดีขึ้น.น. ความตรึก, ความตริ, ความคิด. (ป. วิตกฺก; ส. วิตรฺก ว่า ลังเลใจ).

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ –

ปริวิตก : ความคิดนึก, คำนึง; ไทยใช้หมายความว่านึกเป็นทุกข์หนักใจ, นึกห่วงใย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ –

ปริวิตก : นึกเป็นทุกข์หนักใจ. (ป. ปริวิตกฺก ว่า การตรึกตรอง).

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า คำบางคำ-หลายคำในบาลี เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย ความหมายเคลื่อนที่ไป ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีจะรู้แต่ความหมายในภาษาไทย แต่นักเรียนบาลีได้เปรียบ คือรู้ความหมายเดิมในบาลีด้วย

แถม :

ปริวิตก” ในความหมายเดิมคำหนึ่งที่น่าศึกษา คือ “ปริวิตก” ในคำว่า “อาการปริวิตก” (อาการ + ปริวิดกฺก) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ข้อในกาลามสูตรที่เตือนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ ด้วยข้ออ้าง 10 อย่าง

อาการปริวิตกฺก” แปลตามศัพท์ว่า “การตรึกตามอาการ” ในกาลามสูตรบอกว่า อย่าเชื่อโดยตรึกตามอาการ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาการปริวิตกฺก” ว่า study of conditions, careful consideration, examination of reasons (การศึกษาถึงสภาพ, การพิจารณาอย่างระมัดระวัง, การตรวจตราถึงเหตุผล) 

คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “อาการปริวิตกฺก” ว่า –

(1) “อญฺญสฺส  วิตกฺกยโต  เอกํ  การณํ  อุปฏฺฐาติ  โส  อตฺเถตนฺติ  อาการปริวิตกฺเกน  คณฺหาติ.” (สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 2 หน้า 193) 

แปลว่า: เชื่อโดยคิดไปตามอาการที่ปรากฏว่า-เมื่อใครคิดจะทำอะไร ย่อมจะมีสิ่งบอกเหตุให้เห็นได้สักอย่างหนึ่ง สิ่งที่เขาส่อออกมานั่นแหละต้องจริงอย่างที่คิด 

(2) “สุนฺทรมิทํ  การณนฺติ  เอวํ  การณปริวิตกฺเกนาปิ  มา  คณฺหิตฺถ.” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299) 

แปลว่า: อย่าเชื่อแม้โดยการตรึกตามเหตุการณ์อย่างนี้ว่า ดูตามรูปการณ์แล้วใช่อย่างนี้แน่ 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา อาการปริวิตกฺเกน” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by considering appearances.

กาลามสูตรข้อนี้สอนว่า อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างว่า ดูจากอาการที่ปรากฏแล้วมันต้องเป็นอย่างนี้แน่ เช่น – ก็อาการมันบอกอยู่โต้งๆ หลักฐานมันฟ้องอยู่ชัดๆ เหตุผลแวดล้อมมันส่อแสดงออกอย่างนี้ จะไม่ให้เชื่อได้อย่างไร

ความเชื่อของเราอาจจะถูกต้องก็ได้ ท่านไม่ได้บอกว่ามันจะไม่จริง เพียงแต่ท่านเตือนว่า อย่าปักใจเชื่อว่ามันจะต้องจริงอย่างที่เราเชื่อ

หมายความว่า อย่าเอาสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเป็นหลักเกณฑ์ในการเชื่อของตน เพราะอาการที่เราเห็นปรากฏแก่สายตาและชวนให้คิดเห็นว่ามีเหตุที่เป็นไปได้นั้น จริงๆ แล้วอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ 

สมมุติว่า เราเห็นหนุ่มสาวคู่หนึ่งเกี่ยวแขนกันออกจากโรงแรมม่านรูดในเวลาเช้าตรู่วันหนึ่งด้วยอาการอีบัดอีโรย 

เราคิดตรองไปตามแนวเหตุผลว่า อันว่าโรงแรมม่านรูดนั้นเป็นโรงแรมเฉพาะกิจ เปิดกิจการเพื่อ “กิจกรรมอย่างว่า” โดยเฉพาะ ผู้ที่จะมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ หากไม่ใช่เจ้าของหรือพนักงานบริการแล้ว ก็ย่อมจะมีแต่ผู้มาใช้บริการเท่านั้น และจากการสังเกตบุคลิกแล้ว เขาและหล่อนคู่นั้นไม่มีทางจะเป็นเจ้าของหรือเด็กรับใช้ไปได้ 

เมื่อประมวลเหตุผลทุกทางแล้วเราจึงเชื่อว่า หนุ่มสาวคู่นั้นเพิ่งจะเสร็จการยุทธ์อันดุเดือดเลือดพล่านมาตลอดคืนและกำลังจะไปหาสถานที่พักฟื้นที่ไหนสักแห่งต่อไป 

ว่ากันตามแนวเหตุผลหรือตามอาการที่ปรากฏแล้ว ที่เราเชื่อเช่นนั้นก็นับว่ามีเหตุผลอยู่ 

แต่ข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เราเชื่อเสมอไป เพราะคนทั้งสองอาจจะไม่ได้ทำสงครามอะไรกันอย่างที่คิด หากแต่ว่าล่อข้าวเหนียวส้มตำผิดตำราไปหน่อย ก็เลยถ่ายท้องทั้งคืน เช้าขึ้นมาจึงหมดแรงในสภาพที่เราเห็น-ก็เท่านั้นเอง 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำ หลอกได้แค่ความหมาย

: คน หลอกได้ถึงความฉิบหาย

#บาลีวันละคำ (3,926)

13-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *