บาลีวันละคำ

ปัญหาพยากรณ์ (บาลีวันละคำ 3,927)

ปัญหาพยากรณ์

วิธีตอบคำถาม

อ่านว่า ปัน-หา-พะ-ยา-กอน

ประกอบด้วยคำว่า ปัญหา + พยากรณ์

(๑) “ปัญหา

อ่านว่า ปัน-หา เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺหา” อ่านว่า ปัน-หา รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + (อะ) ปัจจัย

: ปญฺห + = ปญฺห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้” 

ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “ปัญหา” นั่นเอง “ปญฺห” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ ถ้าแจกวิภัตติสามัญ คือวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ก็จะเป็น “ปญฺโห” พหูพจน์เป็น “ปญฺหา” 

ภาษาไทยไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามรูปเดิมในบาลี และไม่ใช้ “ปัญโห” ตามรูปเอกพจน์ แต่ใช้เป็น “ปัญหา” ตรงกับพหูพจน์ในบาลี 

คิดให้เป็นปริศนาธรรม ก็เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติของปัญหาต้องมีมาก เรื่องมาก ยุ่งยากมากเสมอ

ปญฺห” “ปญฺโห” หรือ “ปญฺหา” คำที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด คือหมายถึง –

(1) คำถาม, ระบบคำถาม, แบบสอบถาม (a question, a system of questions, questionnaire)

(2) วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)

(3) การถาม, การสอบถาม, การไต่ถาม (asking, enquiring, questioning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญหา : (คำนาม) ข้อสงสัย, ข้อขัดข้อง, เช่น ทําได้โดยไม่มีปัญหา, คําถาม, ข้อที่ควรถาม, เช่น ตอบปัญหา, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางการเมือง. (ป.).”

(๒) “พยากรณ์” 

บาลีเป็น “วฺยากรณ” อ่านว่า วฺยา-กะ-ระ-นะ (เวีย-กะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = แจ้ง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: วิ > วฺย + อา = วฺยา + กรฺ = วฺยากร + ยุ > อน = วฺยากรน > วฺยากรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องมืออันท่านอาศัยแยกศัพท์ออกตามรูปของตน” (2) “คัมภีร์ที่ท่านอาศัยจำแนกศัพท์ทั้งหลายออกเป็นรูปปกติ” (3) “การอันเขาทำให้แจ่มแจ้งโดยพิเศษ

วฺยากรณ” หมายถึง :

(1) การตอบคำถาม, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

(2) ไวยากรณ์ (grammar)

(3) การทำนาย (prediction)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วฺยากรณ : (คำนาม) ‘วยากรณ์,’ ไวยากรณ์; การชี้แจ้ง, การแสดงไข; grammar; explaining, expounding.”

วฺยากรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พยากรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พยากรณ์ : (คำกริยา) ทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา. (คำนาม) ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทํานาย. (ป., ส. วฺยากรณ).”

ปญฺห + วฺยากรณ = ปญฺหวฺยากรณ (ปัน-หะ-เวีย-กะ-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แจ้งซึ่งปัญหา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปญฺหวฺยากรณ” และขยายความไว้ดังนี้ –

pañhavyākaraṇa: mode of answering questions, of which there are 4, viz. 

ekaŋsa– “direct,” 

vibhajja– “qualified,” 

paṭipucchā– “after further questioning,” 

ṭhapanīya– “not to be answered or left undecided,” 

ปญฺหวฺยากรณ: วิธีตอบปัญหา ซึ่งมี 4 อย่าง กล่าวคือ 

เอกํส– “โดยตรง”, 

วิภชฺช– “มีเงื่อนไขประกอบ”, 

ปฏิปุจฺฉา– “หลังจากได้สอบถามเพิ่มเติม”, 

ฐปนีย– “ไม่ตอบหรือเก็บไว้โดยไม่เฉลย” 

ขยายความ :

ปญฺหวฺยากรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัญหาพยากรณ์” หมายถึง กฎหรือวิธีตอบข้อสงสัยตามหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งท่านแสดงไว้ 4 วิธี ดังนี้ – 

(1) เอกังสพยากรณ์ = ตอบตรงๆ หรือตอบเป็นคำขาดไม่อ้อมค้อม

(2) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ = ย้อนถามให้ผู้ถามชี้ประเด็นออกมาก่อน

(3) วิภัชชพยากรณ์ = ตอบแบบแยกประเด็น

(4) ฐปนียพยากรณ์ = ตอบโดยไม่ตอบ เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบ ตอบไปก็ไม่จบ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องตอบ หรือเห็นว่าผู้ถามไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบ แต่ถามหาเรื่อง

กฎหรือวิธีตอบแต่ละอย่างต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความสงสัยแต่ละเรื่อง ไม่ใช่ทุกอย่างใช้ได้กับความสงสัยทุกเรื่อง

แถม :

ขอแถมด้วยตัวอย่างคำอธิบาย “ปัญหาพยากรณ์” ทั้ง 4 วิธี ที่ท่านอธิบายไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ตามคำแปลในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม ขอยกมาตามสำนวนที่ท่านแปลไว้ อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ขอให้คิดว่า อ่านเป็นอุปนิสัยปัจจัย ส่วนไหนไม่เข้าใจ พยายามสืบถามสอบถามผู้รู้ไปเรื่อยๆ ก็จะมีโอกาสเข้าใจได้ ถ้าอ้างว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็เลยไม่อ่าน หรือจะรออ่านเฉพาะที่แปลให้เข้าใจง่ายๆ เท่านั้น ที่แปลเข้าใจยากไม่อ่าน ก็จะยิ่งไม่มีวันเข้าใจหนักขึ้นไปอีก

ขออนุโมทนากับทุกท่านที่มีอุตสาหะในการศึกษา ซึ่งเป็นการช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาวิธีหนึ่ง

…………..

ถูกถามว่าจักษุไม่เที่ยงหรือ พึงพยากรณ์ก่อนโดยส่วนเดียวว่าไม่เที่ยงขอรับ. ในโสตะเป็นต้นก็มีนัยนี้. นี้ชื่อว่าเอกังสกรณียปัญหา.

ถูกถามว่า จักษุหรือชื่อว่าไม่เที่ยง. พึงแจกแล้วพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไม่ใช่จักษุเท่านั้น แม้แต่โสตะก็ไม่เที่ยง แม้ฆานะก็ไม่เที่ยง. นี้ชื่อว่าวิภัชชพยากรณียปัญหา.

ถูกถามว่า จักษุฉันใด โสตะก็ฉันนั้น โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้นเป็นต้น. พึงย้อนถามว่า ท่านถามด้วยอรรถว่าอะไร เมื่อเขาตอบว่า ถามด้วยอรรถว่าเห็น พึงพยากรณ์ว่า ไม่ใช่. เมื่อเขาตอบว่า ถามด้วยอรรถว่าไม่เที่ยง พึงพยากรณ์ว่า ใช่. นี้ชื่อว่าปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา.

แต่ถูกถามว่า นั้นก็ชีวะ นั้นก็สรีระ เป็นต้น พึงหยุดเสียด้วยกล่าวว่า ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พยากรณ์. ปัญหานี้ไม่พึงพยากรณ์. นี้ชื่อว่าปฐนียปัญหา.

ที่มา:

– พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม 13 หน้า 406-407

– ต้นฉบับบาลี: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 279-280 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ก่อปัญหา

: นั่นแหละแก้ปัญหา

#บาลีวันละคำ (3,927)

14-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *