ขัณฑสกร (บาลีวันละคำ 3,931)
ขัณฑสกร
ไม่บอกไม่รู้ว่าเป็นคำบาลี
อ่านว่า ขัน-ทด-สะ-กอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัณฑสกร : (คำโบราณ) (คำนาม) นํ้าตาลกรวด, เครื่องยาไทยอย่างหนึ่งคล้ายนํ้าตาลกรวด, นํ้าตาลชนิดหนึ่งเชื่อกันว่าเกิดที่ใบบัว, เช่น เมื่อเวลาพุ่มไม้มีดอกออกตระการบานเต็มที่พร้อมฤดู เสาวคนธรสเรณูโรยร่วงลงบนใบอุบล ซึ่งลอยลาดดาดาษอยู่บนหลังน้ำ เมื่อล่วงเวลากาลก็ก่อเกิดโอชะวิเศษหวานเป็นมธุรส มีนามกำหนดเรียกว่า โบกขรมธุ ผู้เรียนรู้ลุในตำราแพทยศาสตร์ ย่อมสืบเสาะแสวงหามาประกอบใช้ในการโอสถ มีนามปรากฏเรียกว่า ขัณฑสกร. (ม. ร่ายยาว จุลพน). (ป. ขณฺฑสกรา; ส.ขณฺฑศรฺกรา).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “ขัณฑสกร” บาลีเป็น “ขณฺฑสกรา” (อันที่จริงพจนานุกรมฯ ควรจะบอกว่า บาลีเป็น “ขณฺฑสกฺขรา” เพราะ “สกรา” ในบาลีรูปศัพท์ที่ถูกต้องคือ “สกฺขรา” ไม่ใช่ “สกรา”)
“ขณฺฑสกรา” อ่านว่า ขัน-ดะ-สะ-กะ-รา แยกศัพท์เป็น ขณฺฑ + สกรา (ตามพจนานุกรมฯ)
(๑) “ขณฺฑ”
อ่านแบบบาลีว่า ขัน-ดะ อ่านแบบไทยว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก ขฑิ (ธาตุ = ตัด, ฉีก, ขาด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณ (ขฑิ > ขํฑิ > ขณฺฑิ), ลบสระที่สุดธาตุ (ขฑิ > ขฑ)
: ขฑิ > ขํฑิ > ขณฺฑิ > ขณฺฑ + อ = ขณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่ขาดออก” (คือแยกออกมา) (2) “น้ำอ้อยที่ขาดออก” (คือเขาทำเป็นก้อนเป็นงบ)
“ขณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง หัก (broken)
(2) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ชิ้นส่วนที่แตกหัก, ท่อน (a broken piece, a bit) (2) น้ำอ้อยงบ (molasses)
บาลี “ขณฺฑ” สันสกฤตก็เป็น “ขณฺฑ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ขณฺฑ : (คำนาม) ขัณฑ์, แถบ, ชิ้น, อัน, เศษ, ภาค, ส่วน; บริจเฉท, ตอน; บทในสมีกรณ์ (ที่เราเรียกคล้อยตามอังกฤษพากย์ว่า – อิเคฺวชัน); ตำหนิในมณี; น้ำอ้อย; เกลืออันมีสีดำ; a piece, a part, a fragment, a portion; a chapter, a section; a term in an equation; a flaw in a jewel; treacle or molasses; black salt.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “ขัณฑ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัณฑ– : (คำนาม) ภาค, ตอน, ท่อน, ส่วน, ก้อน, ชิ้น. (ป., ส. ขณฺฑ).”
ในที่ “ขัณฑ” หมายถึง น้ำอ้อยงบ
(๒) “สกรา”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “สกฺขรา” (กฺ สะกด และมี ข ตามอีกตัวหนึ่ง) อ่านว่า สัก-ขะ-รา รากศัพท์มาจาก –
(1) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ขร ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สรฺ > ส + กฺ + ขร = สกฺขร + อา = สกฺขรา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน”
(2) สห (คำนิบาต = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ขร (แข็ง), แปลง สห เป็น ส, ซ้อน กฺ ระหว่างนิบาตกับบทหลัง + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สห > ส + กฺ + ขร = สกฺขร + อา = สกฺขรา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปกับด้วยความแข็ง” (คือมีความแข็ง)
“สกฺขรา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อนกรวด, กรวดทราย (gravel, grit)
(2) เศษหม้อแตก, เศษกระเบื้อง (potsherd)
(3) เมล็ดข้าว, เมล็ดเล็กๆ, ผลึก (grain, granule, crystal)
(4) น้ำตาลกรวด (granulated sugar)
ในที่นี้ “สกฺขรา” หมายถึง น้ำตาลกรวด
บาลี “สกฺขรา” สันสกฤตเป็น “ศรฺกรา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศรฺกรา : (คำนาม) ฆฏศกล, ภินนบาตร์, ชิ้นหม้อเตก; กรวด; ที่อันมีก้อนหินมาก, น้ำตาล; ภาค, ชิ้น; a potsherd, the fragment of a broken pot; a gravel; a spot abounding in stony fragments; sugar; a part, a piece.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สักขรา” ไว้ บอกไว้ว่า –
“สักขรา : (คำนาม) นํ้าตาล, นํ้าตาลกรวด. (ป.; ส. ศฺรกรา).”
ขณฺฑ + สกฺขรา = ขณฺฑสกฺขรา (ขัน-ดะ-สัก-ขะ-รา) แปลว่า “น้ำอ้อยงบและน้ำตาลกรวด (ประสมเข้าด้วยกัน)”
อภิปรายขยายความ :
“ขณฺฑสกฺขรา” เขียนตามแบบไทยเป็น “ขัณฺฑสักฺขร” อ่านตามแบบไทยว่า ขัน-ทะ-สัก-ขอน แล้วเสียงเพี้ยนเป็น ขัน-ทะ-สัก-กอน (ลองออกเสียงดู จะได้ยินว่า ขัน-ทะ-สัก-ขอน กับ ขัน-ทะ-สัก-กอน สามารถเพี้ยนกันได้ง่าย) แล้วเลยสะกดเป็น “ขัณฑสกร” ตามเสียงที่เพียน แล้วออกเสียงตามรูปคำที่เขียนเป็น ขัน-ทด-สะ-กอน คือเอา ส จาก คำหลังไปสะกด ฑ คำหน้าเป็น –ฑส– อ่านว่า ทด กลายเป็นคำใหม่เสียงใหม่
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินผู้ใหญ่สมัยก่อนเรียกสารส้มว่า“ขัณฑสกร” เวลาใช้สารส้มแกว่งน้ำขุ่นในตุ่มให้เป็นน้ำใส ก็จะพูดว่า “เอาขัณฑสกรมาแกว่งน้ำ”
คำว่า “ขัณฑสกร” – ขัน-ทด-สะ-กอน ถ้าฟังแต่เสียง ชวนให้เข้าใจว่าเป็นคำไทย และชวนให้สะกดเป็น ขันทศกร หรือ ขันธสกร โดยเฉพาะ “ขัณฑ-” คำนี้ถ้าไม่ระวังให้ดี มือก็จะเขียนไปเป็น “ขันธ-” ได้ง่ายที่สุด เพราะเราคุ้นกับ “ขันธ-” แต่ไม่คุ้นกับ “ขัณฑ-”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำแขก หลงคิดว่าเป็นคำไทย
: คนที่รู้ใจ หลงโกรธอยู่ได้เป็นนาน
#บาลีวันละคำ (3,931)
18-3-66
…………………………….
…………………………….