บาลีวันละคำ

รัฐประหาร [2] (บาลีวันละคำ 736)

รัฐประหาร [2]

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ว่า –

(1) รัด-ถะ-ปฺระ-หาน

(2) รัด-ปฺระ-หาน

ความเห็น

1 อ่านว่า รัด-ถะ-ปฺระ-หาน เป็นการอ่านตามหลักคำสมาส

2 อ่านว่า รัด-ปฺระ-หาน (ไม่มีเสียง -ถะ-) เป็นการอ่านแบบไม่เอื้อหลัก หรืออ่านตามสะดวกปาก ถ้ารักภาษาไทย ไม่ควรอ่านแบบนี้

รัฐประหาร ประกอบด้วย รัฐ + ประหาร

รัฐ” บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm

ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นคำว่า “รัฐบาล

ประหาร” บาลีเป็น “ปหาร” (ปะ-หา-ระ) สันสกฤตเป็น “ปฺรหาร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประหาร

พจน.54 บอกความหมายของ “ประหาร” ว่า “การตี, การฟัน, การล้าง, การผลาญ; ฆ่า, ทําลาย

ในภาษาไทย มักให้น้ำหนักคำว่า “ประหาร” ว่า ฆ่า คือทำให้ตาย ดังคำว่า “ประหารชีวิต” (ลงโทษฆ่า)

แต่ในภาษาบาลี “ปหาร” (คำกริยา ปฐมบุรุษ เอกพจน์ เป็น “ปหรติ”) แปลตามศัพท์ว่า “นำไปข้างหน้า” มีความหมายว่า “กระทบ” คือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทบกับเป้าหมาย ในภาษาไทยคำแปลจะแตกต่างกันออกไป เช่น –

ประหารด้วยฝ่ามือ = ตบ

ประหารด้วยกำมือ = ต่อย, ชก

ประหารด้วยด้วยเท้า = เตะ, ถีบ

ประหารด้วยศอก = ถอง

ประหารด้วยไม้ = ตี, ฟาด, หวด

ประหารด้วยดาบ = ฟัน

ประหารด้วยหอก = แทง

จะเห็นได้ว่า “ประหาร” ในภาษาบาลีหมายถึง “ทำร้าย” ไม่ใช่ “ฆ่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปหรติ” ว่า to strike, hit, beat

รัฐ + ประหาร = รัฐประหาร เป็นบาลีไทย แปลตามศัพท์ว่า “โจมตีประเทศ” หรือ “ทำร้ายประเทศ

พจน.54 บอกไว้ว่า –

รัฐประหาร : การใช้กําลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน”

อย่าเสียรู้ภาษา :

รัฐบาล” แปลว่า “คุ้มครองประเทศ

รัฐประหาร” แปลว่า “ทำร้ายประเทศ

ดังนั้น :

– ผู้ทำร้ายประเทศ ไม่ชื่อว่า รัฐบาล

– ผู้คุ้มครองประเทศ ไม่ชื่อว่า รัฐประหาร

(อย่ารีบเข้าใจ โปรดอ่านอีกหลายๆ ครั้ง

มิฉะนั้นจะเสียรู้ภาษา)

————-

หมายเหตุ :

คำว่า “รัฐประหาร” นี้เสนอเป็นบาลีวันละคำเป็นครั้งแรก คำที่ (631) เมื่อ 6-2-57 นำกลับมาเสนอซ้ำตามคำถามของญาติมิตรหลายท่าน และถือโอกาสแก้ไขถ้อยคำบางแห่งที่ครั้งก่อนอ้าง พจน.42 ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตาม พจน.54

23-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *