อธิกสุรทิน (บาลีวันละคำ 1,370)
อธิกสุรทิน
อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-สุ-ระ-ทิน
ประกอบด้วย อธิก + สุรทิน
(๑) “อธิก”
บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + อิ (ธาตุ = เป็นไป) + ก ปัจจัย
: อธิ + อิ = อธิ + ก = อธิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปยิ่ง” หมายถึง ยิ่ง, พิเศษ, ทับ, เหนือกว่า (exceeding, extra-ordinary, superior)
“อธิก” ถ้าใช้นำหน้าคำที่นับเป็นจำนวนได้ มีความหมายว่า เพิ่มขึ้นอีก, รวมด้วย, บวก (in addition, with an additional, plus)
(๒) “สุรทิน” ประกอบด้วย สุร + ทิน
๑) “สุร” บาลีเป็น “สูร” (สู-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สูร (กล้า) + อ ปัจจัย
: สูร + อ = สูร แปลตามศัพท์ว่า “ดวงไฟที่ยังความกล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลก”
(2) สุ (ธาตุ = หลั่งไหล) + ร ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู
: สุ + ร = สุร > สูร แปลตามศัพท์ว่า “ดวงไฟที่หลั่งความกล้าหาญให้แก่มนุษย์ในปฐมกัป”
(3) สุ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อูร ปัจจัย
: สุ + อูร = สูร แปลตามศัพท์ว่า “ดวงไฟที่เบียดเบียนความกลัวของสัตวโลกด้วยการกำจัดความมืดไป”
“สูร” หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun)
๒) “ทิน” (ทิ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทา (ธาตุ = ให้) + อิน ปัจจัย, ลบ อา (ที่ ทา)
: ทา > ท + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาที่ให้ความพยายามและความยืนหยัด” ความหมายนี้หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายลุกขึ้นมาทำการงาน
(2) ทิวุ (ธาตุ = รื่นเริง, สนุกสนาน) + อ ปัจจัย, แปลง วุ (ที่ ทิวุ) เป็น นฺ
: ทิวุ > ทิน + อ = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นที่รื่นเริง” ความหมายนี้ก็หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสว่าง พ้นจากเวลาที่มืดมิด ทำให้เกิดอาการกระปรี้กระเปร่า
(3) ที (ธาตุ = สิ้นไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อี (ที่ ที)
: ที > ท + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุ” ความหมายนี้หมายถึงทั้งกลางวันและกลางคืน คือที่เรียกรวมว่า “วัน” เมื่อวันล่วงไปๆ อายุ คือช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก็หมดไป
“ทิน” หมายถึง วัน, กลางวัน (day)
สูร + ทิน = สูรทิน > สุรทิน (อ่านแบบบาลี สุ-ระ-ทิ-นะ อ่านแบบไทย สุ-ระ-ทิน) แปลว่า “วันตามระบบสุริยคติ” หมายถึง “วันที่” ในเดือนสุริยคติ (คือเดือนมกรา กุมภา ฯลฯ)
อธิก + สุรทิน = อธิกสุรทิน แปลว่า “วันที่ (ในเดือนทางสุริยคติ) ที่เพิ่มขึ้น”
“อธิกสุรทิน” หมายถึง ปีที่มี “วันที่” เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ทางโหราศาสตร์กำหนดให้เพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ คือเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ อีกวันหนึ่ง (ปกติเดือนกุมภาพันธ์หมดเพียงวันที่ 28)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธิกสุรทิน : (คำนาม) วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือ ในปีนั้นเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์อีก ๑ วัน เป็น ๒๙ วัน.”
ความรู้:
ในทางโหราศาสตร์ มีคำที่ขึ้นต้นด้วย อธิก– 3 คำ คือ –
(๑) อธิกมาส : “เดือนเกิน” หมายถึง ปีที่มีเดือน 8 สอง 8
(๒) อธิกวาร : “วันเกิน” หมายถึง ปีที่เดือน 7 มีแรม 15 ค่ำ
(๓) อธิกสุรทิน : “วันที่เกิน” หมายถึง ปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
การที่ต้องกำหนดให้มีวันเกินเดือนเกินนั้นเป็นเหตุผลทางโหราศาสตร์ คือเพื่อทำให้วันเดือนปีทางสุริยคติกับจันทรคติให้สมดุลกัน และเพื่อทำให้วันเดือนปีสมดุลกับฤดูกาลตามธรรมชาติ
อธิกสุรทินจะมีในปีใด เป็นไปตามหลักการคำนวณทางโหราศาสตร์ ตามปกติตกอยู่ในรอบ 4 ปีมีหนึ่งครั้ง
: ไม่มีอะไรเกินหรือขาด ถ้ารู้จักฉลาดทำให้พอดี
29-2-59