บาลีวันละคำ

อาหาเรปฏิกูลสัญญา (บาลีวันละคำ 3,934)

อาหาเรปฏิกูลสัญญา

ช่อมาลาแด่ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน

อ่านว่า อา-หา-เร-ปะ-ติ-กู-ละ-สัน-ยา

ประกอบด้วยคำว่า อาหาเร + ปฏิกูล + สัญญา

(๑) “อาหาเร” 

รูปคำเดิมเป็น “อาหาร” บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)

: อา + หรฺ = อาหร + = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”

พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ – 

1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)

2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)

3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)

4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)

ในที่ “อาหาร” หมายถึง อาหารตามข้อ 1 “กพฬิงการาหาร” คือของกินทั่วไป

(๒) “ปฏิกูล

บาลีเป็น “ปฏิกฺกูล” อ่านว่า ปะ-ติก-กู-ละ, (สะกดเป็น “ปฏิกูล” [ไม่ซ้อน กฺ] ก็มี) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + กูลฺ (ธาตุ = กั้น, ห้าม) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ

: ปฏิ + + กูล = ปฏิกฺกูล + = ปฏิกฺกูล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้าม” (เมื่อพบเห็นสิ่งนั้น ก็ห้ามไม่ให้นำมาใกล้ หรือไม่อยากเข้าใกล้ หรือปฏิเสธ) หมายถึง น่ารังเกียจ, น่าเกลียดชัง, ตรงกันข้าม, ไม่เป็นที่สบอารมณ์ (averse, objectionable, contrary, disagreeable); ความน่าเกลียด, ความไม่สะอาด (loathsomeness, impurity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิกูล : (คำวิเศษณ์) สกปรกน่ารังเกียจ เช่น สิ่งปฏิกูล. (ป. ปฏิกฺกูล).”

(๓) “สัญญา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญา” อ่านว่า สัน-ยา รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ” 

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

ในที่นี้ “สญฺญา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า sense, consciousness, perception, being the third khandha (สัญญา, ความรู้สึก, ความรับรู้, เป็นขันธ์ที่ 3)

บาลี “สญฺญา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัญญา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”

การประสมคำ :

ปฏิกฺกูล + สญฺญา = ปฏิกฺกูลสญฺญา (ปะ-ติก-กู-ละ-สั-ยา) แปลว่า “ความกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งสกปรก

๒ “อาหาร” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อาหาเร” (อา-หา-เร) แปลว่า “ในอาหาร

: อาหาเร + ปฏิกฺกูลสญฺญา = อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา (อา-หา-เร-ปะ-ติก-กู-ละ-สัน-ยา) แปลว่า “ความกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งสกปรกในอาหาร” หรือ “ความกำหนดหมายในอาหารว่าเป็นสิ่งสกปรก” หมายความว่า ทำความรู้สึกให้เกิดขึ้นว่า อาหารที่กินเข้าไปนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งสกปรก

อธิบายแทรก-หลักภาษา :

อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา” มีฐานะเป็น “คำสมาส” คือคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาต่อเป็นคำเดียวกัน โดยปกติ คำที่แจกวิภัตติในกระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย (ศัพท์วิชาการว่า “รูปวิเคราะห์) เมื่อสมาสกับคำอื่นจะลบวิภัตติออกให้เป็นรูปคำเดิม เช่นในที่นี้ “อาหาเร” (อา-หา-เร) เป็นคำที่แจกวิภัตติ รูปคำเดิมคือ “อาหาร” (อา-หา-ระ) เมื่อสมาสกับ “ปฏิกฺกูลสญฺญา” จะต้องลบวิภัตติออก คือ “อาหาเร” กลับไปเป็น “อาหาร” 

: อาหาเร + ปฏิกฺกูลสญฺญา = อาหารปฏิกฺกูลสญฺญา (อา-หา-ระ-ปะ-ติก-กู-ละ-สัน-ยา)

แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านใช้สูตรพิเศษ คือไม่ลบวิภัตติ

: อาหาเร + ปฏิกฺกูลสญฺญา = อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา (อา-หา-เร-ปะ-ติก-กู-ละ-สัน-ยา) 

: อาหารปฏิกฺกูลสญฺญา = ลบวิภัตติ

: อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา = ไม่ลบวิภัตติ

โปรดสังเกตความแตกต่างตรงพยางค์ –ระ กับ –เร

สูตรพิเศษที่ไม่ลบวิภัตตินี้ ศัพท์วิชาการเรียกว่า “อลุตตสมาส” (อะ-ลุด-ตะ-สะ-หฺมาด) แปลว่า “สมาสไม่ลบวิภัตติ

เพราะฉะนั้น “อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา” จึงเป็นศัพท์สมาสชนิด “อลุตตสมาส”

อาหาเรปฏิกฺกูลสญฺญา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” 

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” ไว้ดังนี้ –

…………..

อาหาเรปฏิกูลสัญญา : กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร, ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียดโดยอาการต่างๆ เช่น ปฏิกูล โดยบริโภค, โดยประเทศที่อยู่ของอาหาร, โดยสั่งสมอยู่นานเป็นต้น (ข้อ ๓๕ ในกรรมฐาน ๔๐)

…………..

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 155 แสดงวิธีมองอาหารว่าเป็นของน่าเกลียดโดยอาการต่างๆ ไว้ 10 อาการ ดังนี้ –

(1) คมนโต = โดยการเดินไปแสวงหา (คือให้เห็นความน่าเกลียดระหว่างย่างเท้าเดินทางไปหาอาหาร)

(2) ปริเยสนโต = โดยอาการขณะที่กำลังแสวงหา

(3) ปริโภคโต = โดยการบริโภค (เช่นอาหารขณะที่อยู่ปากน่าขยะแขยง)

(4) อาสยโต = โดยอาสยะ (คืออาโปธาตุในลำไส้ที่ออกมาประสมกับอาหารที่กลืนลงไป)

(5) นิธานโต = โดยที่พัก (คือความน่าเกลียดของกระเพาะอาหาร)

(6) อปริปกฺกโต = โดยยังไม่ย่อย

(7) ปริปกฺกโต = โดยย่อยแล้ว

(8 ) ผลโต = โดยผล (คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการกินอาหาร เช่นโรคบางอย่าง)

(9) นิสฺสนฺทโต = โดยการไหลออก (ในเวลาขับถ่าย)

(10) สมฺมกฺขนโต = โดยความเปรอะเปื้อน

แต่ละอาการท่านบรรยายรายละเอียดไว้น่าศึกษา นักปฏิบัติกรรมฐานพึงขวนขวายศึกษาแล้วน้อมนำมาพิจารณาดูเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินให้อร่อยไม่ผิด

: แต่อย่าติดรสอร่อย

#บาลีวันละคำ (3,934)

21-3-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *