บาลีวันละคำ

ศีล 227 (บาลีวันละคำ 555)

ศีล 227

ศีล” บาลีเป็น “สีล” อ่านว่า สี-ละ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เครื่องผูกจิตไว้” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

ในที่นี้ “ศีล” หมายถึง ข้อบัญญัติเฉพาะส่วนที่เป็นหลักใหญ่สำหรับพระภิกษุ ซึ่งถ้าละเมิดจะมีความผิด ตามที่ชาวพุทธคุ้นกับจำนวนตัวเลข 227 ข้อ ประกอบด้วย –

1. ปาราชิก (ปา-รา-ชิก) แปลว่า “ผู้พ่ายแพ้” “อาบัติที่ทำให้เป็นผู้พ่ายจากสมณเพศ” เมื่อล่วงละเมิดแล้วขาดจากความเป็นพระทันที ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม (มี 4 ข้อ คำว่า “ข้อ” ท่านใช้ศัพท์ว่า “สิกขาบท” = มาตรา : 4 ข้อ = 4 มาตรา)

2. สังฆาทิเสส (สัง-คา-ทิ-เสด) มาจากคำว่า สังฆ + อาทิ + เสส แปลว่า “หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ” หมายความว่า วิธีการที่จะทำให้พ้นผิดเมื่อละเมิดศีลหมวดนี้ ต้องให้สงฆ์เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้นไปจนตลอด (มี 13 ข้อ)

3. อนิยต (อะ-นิ-ยด) มาจาก > + นิยต แปลว่า “ไม่กำหนดแน่” เป็นกรณีที่ภิกษุถูกกล่าวหาว่าละเมิดศีล ให้วินิจฉัยโทษตามคำฟ้องหรือตามคำรับ (เป็นที่มาของคำว่า “อนิยตไม่กำหนดแน่”) (มี 2 ข้อ)

4. ปาจิตตีย์ (ปา-จิด-ตี คำเดิม ปาจิตฺติย ปา-จิด-ติ-ยะ) แปลว่า “การละเมิดอันยังกุศลให้ตก” แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ –

4.1 นิสสัคคียปาจิตตีย์ (นิด-สัก-คี-ยะ-ปา-จิด-ตี) แปลว่า “ปาจิตตีย์อันต้องสละสิ่งของ” มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “นิสสัคคีย์” เป็นกรณีที่มีวัตถุของกลางประกอบการล่วงละเมิด จะพ้นผิดได้ต้องสละของกลางตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด (มี 30 ข้อ)

4.2 สุทธิกปาจิตตีย์ (สุด-ทิ-กะ-ปา-จิด-ตี) แปลว่า “ปาจิตตีย์ปลอด” มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปาจิตตีย์” เป็นกรณีที่ล่วงละเมิดโดยไม่มีวัตถุของกลาง (มี 92 ข้อ)

5. ปาฏิเทสนียะ (ปา-ติ-เท-สะ-นี-ยะ) แปลว่า “พึงแสดงคืน” (a sin which ought to be confessed) เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการรับและฉันภัตตาหารในบางกรณี (มี 4 ข้อ)

6. เสขิยะ (เส-ขิ-ยะ) แปลว่า “แบบธรรมเนียมที่ควรสำเหนียก” ว่าด้วยแบบธรรมเนียมและมารยาทต่างๆ ที่ภิกษุพึงปฏิบัติให้ควรแก่สถานภาพ (มี 75 ข้อ)

7. อธิกรณสมถะ (อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ-สะ-มะ-ถะ) มาจาก อธิ + กรณ = อธิกรณ (อธิกรณ์ (อะ-ทิ-กอน) = ข้อพิพาท, คดีความ, เรื่องที่เป็นปัญหา) + สมถ (= การระงับ, การทำให้สงบ) ว่าด้วยวิธีระงับข้อพิพาทที่ภิกษุเป็นผู้ก่อในส่วนที่เกี่ยวกับภิกษุด้วยกันหรือในวงการสงฆ์ (มี 7 ข้อ)

สรุป :

ปาราชิก 4 + สังฆาทิเสส 13 + อนิยต 2 + นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 + สุทธิกปาจิตตีย์ 92 + ปาฏิเทสนียะ 4 + เสขิยะ 75 + อธิกรณสมถะ 7 = 227 (สองร้อยยี่สิบเจ็ด)

ข้อควรทราบ :

ศีล 227 ข้อ เฉพาะที่เป็นหลักใหญ่เท่านั้น ยังมีศีลข้อย่อยๆ อีกเป็นอันมากที่ภิกษุจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

: อยากให้พระเคร่งพระธรรมวินัย

: โยมต้องใส่ใจเรื่องศีลของพระ

——————

(ตามคำขอของ สามเณรคริสเบิร์นลีย์ ฟอเรสต์กรีน)

22-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย