บาลีวันละคำ

วัด ในภาษาบาลี (บาลีวันละคำ 556)

วัด ในภาษาบาลี

คำว่า “วัด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ว่า “สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวชเป็นต้น

ในภาษาบาลีมีคำที่หมายถึง “วัด” ตามความหมายนี้หลายคำ คือ –

อาราม” (อา-รา-มะ ภาษาไทยอ่านว่า อา-ราม) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี” = มาถึงตรงนั้นแล้วเกิดความรู้สึกยินดีรื่นรมย์ใจ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาราม” หมายถึง สถานที่อันร่มรื่น, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden) (ดูเพิ่มเติมที่ “อาราม” บาลีวันละคำ (419) 8-7-56)

อาวาส” (อา-วา-สะ ภาษาไทยอ่านว่า อา-วาด) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” หมายถึง การพักแรม, การอาศัยอยู่, ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence) (ดูเพิ่มเติมที่ “อาวาส” บาลีวันละคำ (420) 9-7-56)

วิหาร” (วิ-หา-ระ ภาษาไทยอ่านว่า วิ-หาน) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่” “ธรรมเป็นเครื่องอยู่” “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง วัด (habitation, organized monastery) (ดูเพิ่มเติมที่ “วิหาร” บาลีวันละคำ (286) 19-2-56)

อสฺสม” (อัด-สะ-มะ) คือที่ในภาษาไทยใช้ว่า “อาศรม” (อา-สม) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีความสงบรอบด้าน” คำนี้มักใช้ในฐานะเป็นที่อยู่ของพวกฤๅษีหรือนักพรตทั่วไป

ปริเวณ” (ปะ-ริ-เว-นะ) ภาษาไทยใช้ว่า “บริเวณ” (บอ-ริ-เวน) แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่เป็นไปโดยรอบ” คำนี้หมายถึงส่วนย่อยภายในวัดที่แบ่งเป็นพื่นที่เฉพาะของภิกษุแต่ละรูป (cell or private chamber) เช่น “บริเวณของพระสารีบุตร” “บริเวณของพระมหาโมคคัลลานะ”

บรรดาคำเหล่านี้ คำที่ใช้บ่อยในคัมภีร์คือ “อาราม” วัดสำคัญในพุทธประวัติ เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน เหล่านี้เรียกว่า “อาราม” เสมอ ในภาษาไทยใช้คำว่า อาราม อาวาส และ วิหาร ในความหมายว่า “วัด

: ถ้าบ้านเหมือนกับวัด ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีบ้าน

: แต่ถ้าวัดเหมือนกับบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องมีวัด

——————–

(คำถามของ พันเอก อำนาจ เกิดผล)

23-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย