บาลีวันละคำ

ลูขัปปมาณิกา (บาลีวันละคำ 3,949)

ลูขัปปมาณิกา

1 ในปมาณิกา 4

…………..

เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสมี 4 อย่างคือ –

(1) รูปร่างหน้าตา ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “รูปัปปมาณิกา

(2) เสียง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “โฆสัปปมาณิกา” 

(3) ความเคร่ง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ลูขัปปมาณิกา” 

(4) ธรรม ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ธัมมัปปมาณิกา

…………..

ลูขัปปมาณิกา” 

อ่านว่า ลู-ขับ-ปะ-มา-นิ-กา ประกอบด้วยคำว่า ลูข + ปมาณิกา 

(๑) “ลูข” 

บาลีอ่านว่า ลู-ขะ รากศัพท์มาจาก ลู (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย

: ลู + = ลูข (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ตัดความประณีต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “ลูข” เทียบกับภาษาในคัมภีร์พระเวทซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็น “รูกฺษ” (Vedic rūkṣa)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “รุกฺษ” และ “รูกฺษ” บอกไว้ดังนี้ –

(1) รุกฺษ : (คำวิเศษณ์) หยาบคาย, ไร้กรุณรส; หยาบ, กระด้าง; ขรุขระ, ไม่สม่ำเสมอ; harsh, unkind; rough, hard; rugged, uneven.

(2) รูกฺษ : (คำวิเศษณ์) หยาบช้า, หยาบคาย; to be harsh.

ลูข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) (ใช้กับเครื่องแต่งตัวหรืออาหาร) หยาบ, เศร้าหมอง, ไม่รื่นรมย์; ทราม, เลว (rough, coarse, unpleasant; poor, bad) 

(2) (ใช้กับบุคคล) ต่ำ, ทราม, หยาบ, น่าสมเพช, น่ารังเกียจ (low, wretched, rough, miserable, offensive)

(3) (ใช้บอกถึงคุณภาพ) สามัญ, น้อย, บกพร่อง (mediocre, meagre, wretched)

ขยายความแทรก :

ในหมู่นักเรียนบาลีนิยมแปล “ลูข” ว่า “เศร้าหมอง” หรือ “ปอน” หมายถึง ไม่หรูหรา ถ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มก็เป็นผ้าคร่ำๆ เก่าๆ แต่ไม่ได้หมายถึงสกปรก

ในที่นี้ใช้คำแปลชัดลงไปว่า “ความเคร่ง” โดยเล็งไปที่วัตรปฏิบัติของภิกษุ

พระมหาสาวกที่รู้จักกันดีองค์หนึ่ง คือพระโมฆราชได้รับเอตทัคคะคือเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางทรงจีวรเศร้าหมอง 

คำว่า “ทรงจีวรเศร้าหมอง” แปลจากคำบาลีว่า “ลูขจีวรธร” (ลูข = เศร้าหมอง, จีวร = จีวร, ธร = ทรง) หมายถึงใช้จีวรปอนๆ

“จีวรปอน” ท่านว่ามีเกณฑ์ตัดสิน 3 อย่าง คือ –

(1) วตฺถลูข เนื้อผ้าปอน

(2) สุตฺตลูข ด้ายที่ใช้เย็บปอน

(3) รญฺชกลูข สีย้อมปอน

หมายเหตุ : รากศัพท์ “ลูข” ที่แสดงไว้ข้างต้นนั้นเป็นเพียงสันนิษฐาน เนื่องจากยังไม่พบรากศัพท์ในคัมภีร์ นักเรียนบาลีท่านใดพบที่มาของรากศัพท์นี้ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

(๒) “ปมาณิกา” 

รูปคำเดิมเป็น “ปมาณิก” อ่านว่า ปะ-มา-นิ-กะ ประกอบขึ้นจาก ปมาณ + อิก ปัจจัย

(ก) “ปมาณ” บาลีอ่านว่า ปะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น  

: + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ

ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)

(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)

(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)

(4) ขอบเขต (limit)

(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)

บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”

บาลี “ปมาณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ประมาณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปมาณ” ไว้ เป็นอันว่าคำนี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาณ” 

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ปมาณ

(ข) ปมาณ + อิก ปัจจัย 

: ปมาณ + อิก = ปมาณิก (ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอา-เป็นประมาณ” = ผู้ยึดถือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเกณฑ์

ลูข + ปมาณิก ซ้อน ปฺ ระหว่างศัพท์

: ลูข + ปฺ + ปมาณิก = ลูขปฺปมาณิก (ลู-ขับ-ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาความเศร้าหมองเป็นประมาณ” หมายถึง ผู้ถือเอาความประพฤติเป็นคนปอนๆ ไม่หรูหรา เป็นเกณฑ์ที่ตนจะศรัทธาเลื่อมใสหรือนิยมชมชอบเป็นต้น

ลูขปฺปมาณิก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปุคฺคลา” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ลูขปฺปมาณิกา

ลูขปฺปมาณิกา” เขียนแบบไทยเป็น “ลูขัปปมาณิกา” อ่านว่า ลู-ขับ-ปะ-มา-นิ-กา

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ลูขัปปมาณิกา” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ลูขัปปมาณิกา : ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ ชอบผู้ที่ประพฤติปอน ครองผ้าเก่า อยู่เรียบๆ ง่ายๆ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส — Pamāṇa, Pamāṇika: those who measure, judge or take standard) ข้อ 3 ใช้คำว่า “ลูขประมาณ” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

3. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมอง เช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ — Lūkha-pamāṇa: one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)

…………

…………

ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

…………..

แถม :

เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสทั้ง 4 อย่าง คนเราเลื่อมใสเพราะเหตุข้อไหนมากกว่ากัน ท่านแสดงอัตราส่วนไว้ดังนี้ –

เลื่อมใสรูปร่างหน้าตา 2 ใน 3

เลื่อมใสเสียง 4 ใน 5

เลื่อมใสความเคร่ง 9 ใน 10

เลื่อมใสธรรม 1 ใน 100,000

ข้อความตามต้นฉบับที่ท่านแสดงไว้เป็นดังนี้ –

…………..

สพฺพสตฺเต  จ  ตโย  โกฏฺฐาเส  กตฺวา  เทฺว  โกฏฺฐาสา  รูปปฺปมาณา  เอโก  น  รูปปฺปมาโณ  ฯ

แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วนถือรูปเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือรูปเป็นประมาณ 

ปญฺจ  โกฏฺฐาเส  กตฺวา  จตฺตาโร  โกฏฺฐาสา  โฆสปฺปมาณา  เอโก  น  โฆสปฺปมาโณ  ฯ

แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วนถือเสียงเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือเสียงเป็นประมาณ 

ทส  โกฏฺฐาเส  กตฺวา  นว  โกฏฺฐาสา  ลูขปฺปมาณา  เอโก  น  ลูขปฺปมาโณ  ฯ

แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วนถือความปอนเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือความปอนเป็นประมาณ 

สตสหสฺสโกฏฺฐาเส  ปน  กตฺวา  เอโก  โกฏฺฐาโสว  ธมฺมปฺปมาโณ  เสสา  น  ธมฺมปฺปมาณาติ  เวทิตพฺพา  ฯ

แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้นถือธรรมเป็นประมาณ ที่เหลือพึงทราบว่าไม่ถือธรรมเป็นประมาณ 

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 526 (รูปสุตตวัณณนา)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงเคร่งเพื่อขัดเกลาตนเอง

: อย่าเคร่งเพื่อให้เขานับถือ

#บาลีวันละคำ (3,949)

5-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *