บาลีวันละคำ

อุปนิกขิต (บาลีวันละคำ 3,953)

อุปนิกขิต

ไม่คิดว่าจะมีก็มี

อ่านว่า อุ-ปะ-นิก-ขิด

อุปนิกขิต” เขียนแบบบาลีเป็น “อุปนิกฺขิตฺต” อ่านว่า อุ-ปะ-นิก-ขิด-ตะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ขิปฺ (ธาตุ ซัดไป, ทิ้ง, วาง) + ต ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่าง นิ กับ ขิปฺ (นิ + กฺ + ขิปฺ), แปลงที่สุดธาตุกับ ต ปัจจัย เป็น ตฺต

: อุป + นิ + กฺ + ขิป = อุปนิกฺขิป + = อุปนิกฺขิปฺต > อุปนิกฺขิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาเข้าไปวางไว้” “-อันถูกวางไว้ใกล้” 

อุปนิกฺขิตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำกริยาหรือคุณศัพท์: ถูกวางไว้ [อย่างลับๆ], ถูกวางไว้ใกล้ๆ หรือข้างบน (laid down [secretly], placed by or on top)

(2) เป็นคำนาม: จารบุรุษ, คนสอดแนม (a spy)

บาลี “อุปนิกฺขิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปนิกขิต” และใช้อิงสันสกฤตเป็น “อุปนิกษิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุปนิกขิต, อุปนิกษิต : (คำกริยา) เก็บไว้, รักษาไว้. (คำนาม) คนสอดแนม, จารชน. (ป. อุปนิกฺขิตฺต; ส. อุปนิกฺษิปฺต).”

พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้สันสกฤตเป็น “อุปนิกฺษิปฺต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มืออยู่ไม่ได้เก็บคำว่า “อุปนิกฺษิปฺต” ไว้

อภิปรายขยายความ :

อุปนิกขิต” เป็นศัพท์ลึกมาก เชื่อว่าคงไม่มีใครนึกถึงจนถึงกับจะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือเขียนกันทั่วๆ ไป แต่พจนานุกรมฯ ก็ยังอุตส่าห์เก็บคำนี้ไว้ จึงควรกล่าวได้ว่า ภาษาไทยเราเป็นภาษาที่รุ่มรวยถ้อยคำอย่างยิ่ง

แม้แต่คำว่า “รุ่มรวย” นี่เอง ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่าคนรุ่นใหม่น่าจะไม่รู้จักแล้ว เพราะใช้กันเป็นสามัญว่า “ร่ำรวย” ไม่มีใครพูดว่า “รุ่มรวย” แต่คำว่า “รุ่มรวย” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ และผู้เขียนบาลีวันละคำยืนยันได้ว่า คนเก่าๆ พูดและเขียนว่า “รุ่มรวย” กันทั่วไป มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ไม่รู้จัก

เหตุที่ยกคำว่า “อุปนิกขิต” ขึ้นมาเขียนเป็นบาลีวันละคำก็เนื่องด้วยญาติมิตรท่านหนึ่งถามมาว่า “อุปลิขิต” แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ท่านแสดงความเห็นมาด้วยว่า “น่าจะหมายถึง สายสืบ สายลับ” 

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในบาลี ไม่พบศัพท์ “อุปลิขิต” คำหลักคือ “ลิขิต” เป็นคำที่เราคุ้นกันดี ที่พอจะคุ้นตามมาก็คือ “ปัจฉิมลิขิต” (ข้อความที่เขียนเพิ่มเติมลงท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว ใช้อักษรย่อวา ป.ล.) และ “นขลิขิต” (คำที่อยู่ในวงเล็บ) แต่ “อุปลิขิต” ไม่พบ

ความเห็นที่ว่า “น่าจะหมายถึง สายสืบ สายลับ” ทำให้เฉลียวใจว่าน่าจะเป็นคำอื่น ไม่ใช่ “อุปลิขิต” ในที่สุดก็ไปพบคำว่า “อุปนิกขิต” ซึ่งถ้าเป็นคำนามก็หมายถึง จารบุรุษ, คนสอดแนม ตรงตามที่เข้าใจ

เรื่องนี้ให้ข้อคิดว่า คำที่ออกจากปากสู่หูนั้น ถ้าไม่ระวังให้ดีก็เพี้ยนได้ง่ายและเพี้ยนได้มากด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพี้ยนคำยังพอค้น

: เพี้ยนคนจะแก้กันอย่างไร

————————–

ชำระหนี้ค้างปีให้ Supachoke Thaiwongworakool

หวังว่าท่านเจ้าประคุณคงไม่คิดดอกเบี้ย

#บาลีวันละคำ (3,953)

9-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *