บาลีวันละคำ

มหาธีรราช (บาลีวันละคำ 558)

มหาธีรราช

อ่านว่า มะ-หา-ที-ระ-ราด

ประกอบด้วยคำว่า มหา + ธีร + ราช

มหา” (คำเดิม “มหนฺต”) แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ บางทีใช้ในความหมายว่า “มาก

ธีร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปัญญา” “ผู้ถือเอาประโยชน์นั้นๆ ไว้ได้ด้วยปัญญา” ความหมายที่รู้กันคือ นักปราชญ์ บัณฑิต ผู้รู้

มีคำอธิบายว่า ผู้ได้นามว่า “ธีร” เพราะมี “3 ธิ” เป็นคุณสมบัติ คือ –

1. ธิกฺกิตปาป = รังเกียจความชั่ว

2. ธิติสมฺปนฺน = ตั้งตัวมั่นในความดี

3. ธิยา สมนฺนาคต = มีปัญญาเพียบพร้อม

ราช” แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

มหา + ธีร + ราช = มหาธีรราช สามารถแปลได้ 2 นัย คือ –

1. แปลชั้นเดียว

มหาธีร (นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่) + ราช (พระราชา) = มหาธีรราช = พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่

2. แปลสองชั้น

มหาราช (พระราชาผู้ยิ่งใหญ่, มหาราช) + ธีรราช (พระราชาผู้เป็นนักปราชญ์) = มหาธีรราช = พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ผู้เป็นนักปราชญ์, มหาราชผู้เป็นนักปราชญ์

มหาธีรราช” เป็นพระนามซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ออกพระนามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

จมื่นเทพดรุณาทร เขียนไว้ในบทความเรื่อง “พระสารประเสริฐเท่าที่ข้าพเจ้ารู้จัก” (ท้ายหนังสือ สมญาภิธานรามเกียรติ์ ของ “นาคะประทีป” แพร่พิทยา, 2510, น.159-160) ว่า –

เมื่อเดือนตุลาคม 2469 นักปราชญ์ราชบัณฑิตปรารภกันว่า พระพุทธเจ้าหลวงเราขนานพระนามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เราควรขนานพระนามว่ากระไร ? ขณะนั้นเอง พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ก็กล่าวออกมาว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เป็นอย่างไร ? ทุกคนที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นก็เห็นพ้องต้องกันว่าดีแล้ว คำว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” จึงมีมาด้วยประการฉะนี้

25 พฤศจิกายน วัน “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

บำเพ็ญคุณธรรม 3 ประการ :

1 .รังเกียจความชั่ว

2. ตั้งตัวมั่นในความดี

3. มีปัญญาเพียบพร้อม

น้อมถวายเป็นราชสักการะแด่ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

25-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย