บาลีวันละคำ

ยานยนต์ หรือ ยานยนตร์ (บาลีวันละคำ 3,956)

ยานยนต์ หรือ ยานยนตร์

พจนานุกรมไม่มีคำตัดสินตรงๆ

อ่านเหมือนกันทั้ง 2 คำ คือ ยาน-ยน

ประกอบด้วยคำว่า ยาน + ยนต์/ยนตร์

(๑) “ยาน

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป” 

ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –

(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding) 

(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ยาน ๑ : (คำนาม) เครื่องนําไป, พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ, มักใช้เข้าคู่กับคำ พาหนะ เป็น ยานพาหนะ. (ป., ส.).”

(๒) “ยนต์” 

เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “ยนฺต” อ่านว่า ยัน-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ยา (ธาตุ = ไป, ถึง) + อนฺต ปัจจัย, ลบ อา สระที่สุดธาตุ (ยา > )

: ยา > + อนฺต = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึงกิริยานั้น” คือแสดงกิริยานั้นๆได้ “สิ่งที่ทำอาการนั้นๆ ไปด้วยมือและเท้าเป็นต้น

(2) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + (อะ) ปัจจัย ซ้อน นฺ กลางธาตุ

: ยตฺ < + นฺ + = ยนฺต + = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือที่พยายามในการยกขึ้นยกลงเป็นต้นได้” = หุ่นยนต์

ยนฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง วิธีการสำหรับหยิบจับ, สิ่งที่คิดขึ้น, อุบาย, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก (a means for holding, contrivance, artifice, instrument, machine, mechanism)

(๓) “ยนตร์

เป็นรูปคำสันสกฤต เขียนแบบสันสกฤตเป็น “ยนฺตฺร” (ยัน-ตฺระ) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ยนฺตฺร : (คำนาม) ‘ยันตร์, ยนตร์’ เครื่องยนตร์ทั่วไป; การห้ามหรือระงับ; a machine, any implement or apparatus; restraining or checking.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ยนต์” แบบบาลี และ “ยนตร์” แบบสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –

ยนต์, ยนตร์ : (คำนาม) เครื่องกลไก, เครื่องจักรที่ให้กําเนิดพลังงานหรือทําให้วัตถุเคลื่อนที่. (ป. ยนฺต; ส. ยนฺตฺร).”

ยาน + ยนต์/ยนตร์ = ยานยนต์/ยานยนตร์

แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “ยานที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์

อภิปรายขยายความ :

คำนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการอ่านและความหมาย แต่มีปัญหาว่าจะสะกดอย่างไร “ยานยนต์” หรือ “ยานยนตร์”?

ถ้าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ ก็หมดปัญหา คือพจนานุกรมฯ สะกดอย่างไรก็ใช้ตามนั้น แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บไว้ ไม่ว่าจะ “ยานยนต์” หรือ “ยานยนตร์

ถ้าจะหาตัวอย่างคำที่ลงท้ายด้วย “ยนต์” และ “ยนตร์” ในพจนานุกรมฯ ก็มีทั้ง 2 คำ

ลงท้ายด้วย “ยนต์” เช่น รถยนต์ (ไม่ใช่ รถยนตร์)

ลงท้ายด้วย “ยนตร์” เช่น ภาพยนตร์ (ไม่ใช่ ภาพยนต์) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) รถยนต์ : (คำนาม) ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ตามปรกติมี ๔ ล้อ มีหลายแบบหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กันตามความมุ่งหมายที่ใช้เป็นต้น เช่น รถเก๋ง รถบรรทุก รถโดยสาร.

(2) ภาพยนตร์ : (คำนาม) ภาพฉายด้วยเครื่องทําให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้, หนังฉาย.

เพราะฉะนั้น จะสะกดเป็น “ยานยนต์” หรือ “ยานยนตร์” ก็ได้ทั้งคู่

แต่มีคำเทียบที่น่าคิด นั่นคือคำว่า “จักรยานยนต์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

จักรยานยนต์ : (คำนาม) รถที่มีล้อ ๒ ล้อ เหมือนกับรถจักรยานขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์, ภาษาปากเรียก รถเครื่อง หรือ มอเตอร์ไซค์.”

จักรยานยนต์” ถ้าตัด “จักร-” ออก ก็จะเป็น “ยานยนต์” ตรงกับ “ยานยนต์” พอดี

จักรยานยนต์” พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “จักรยานยนต์” (-ยนต์ บาลี) ไม่ใช่ “จักรยานยนตร์” (-ยนตร์ สันสกฤต)

เพราะฉะนั้น เมื่อว่าตามคำเทียบ คำนี้ควรสะกดเป็น “ยานยนต์

ทีเกิดเป็นประเด็น ก็เพราะเอกสารราชกิจจานุเบกษาสะกดคำนี้เป็น “ยานยนตร์” (ดูภาพประกอบ) และมีผู้อธิบายว่าเป็นการสะกดตาม “พระราชบัญญัติรถยนตร์ พุทธศักราช 2473” (โปรดสังเกตว่า ก่อนที่จะมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 อันเป็นพจนานุกรมฯ ฉบับแรก)

วิธีแก้ปัญหาก็คือ ราชบัณฑิตยสภาประกาศออกมาชัดๆ ว่า คำนี้สะกดอย่างไร 

ถ้ารอพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงใหม่ก็คงอีกนาน และเมื่อปรับปรุง จะเก็บคำนี้ไว้หรือเปล่าก็ไม่มีใครรับประกันได้

แถม :

อย่างไรก็ตาม มีบทความจากคลังความรู้ของราชบัณฑิตยสภา เรื่อง “ยนต์ กับ ยนตร์” เผยแพร่เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2552 ลงชื่อ “อิสริยา  เลาหตีรานนท์” เป็นผู้เขียน ขอยกมาเสนอเป็นความรู้ตังต่อไปนี้

…………..

     ยนต์ กับ ยนตร์

          คำว่า “ยนต์” กับ “ยนตร์” เป็นคำที่มีการใช้ผิดกันบ่อย ๆ และมักเขียนกันสับสนเมื่อนำไปประสมกับคำอื่น  แม้ว่าที่จริงแล้วคำทั้ง ๒ คำจะมีความหมายเหมือนกันแต่ก็เขียนต่างกัน

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของ “ยนต์” กับ “ยนตร์” ไว้ว่า  เป็นคำนาม หมายถึง เครื่องกลไก เครื่องจักรที่ให้กําเนิดพลังงานหรือทําให้วัตถุเคลื่อนที่ แต่ที่ต่างกันคือ คำว่า ยนต์ มาจากภาษาบาลี  ส่วนคำว่า ยนตร์ มาจากภาษาสันสกฤต

          ยนต์ และ ยนตร์ เมื่อนำไปประสมกับคำอื่น  ทำให้เกิดความหมายใหม่หลายความหมาย และจากตัวสะกดที่ใกล้เคียงกันนี้เองทำให้มีการสะกดคำเหล่านี้ผิดกันบ่อย เช่น

          คำว่า ภาพยนตร์ ในหนังสืออ่านอย่างไรเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้รายละเอียดว่า  มักมีผู้สะกดคำนี้ผิดเป็น ภาพยนต์ ซึ่งที่ถูกต้องสะกดว่า ภาพยนตร์  เป็นคำนาม หมายถึง  ภาพฉายด้วยเครื่องทําให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้   และยังหมายถึง หนังฉาย  คำว่า รถยนต์  มักมีผู้สับสนสะกดคำนี้ผิดเป็น รถยนตร์ ซึ่งที่ถูกต้องสะกดว่า รถยนต์  เป็นคำนามหมายถึง ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ตามปรกติมี ๔ ล้อ  มีหลายแบบหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กันตามความมุ่งหมายที่ใช้เป็นต้น เช่น รถเก๋ง รถบรรทุก รถโดยสาร หากใช้ในทางกฎหมาย หมายถึง  รถที่มีล้อตั้งแต่ ๓ ล้อ และเดินด้วยกําลังเครื่องยนต์ กําลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นยกเว้นที่เดินบนราง  ส่วนคำว่า จักรยานยนต์ มักมีผู้สับสนสะกดคำนี้ผิดเป็น จักรยานยนตร์  ที่ถูกต้องสะกดว่า จักรยานยนต์  เป็นคำนาม หมายถึง รถที่มีล้อ ๒ ล้อ เหมือนกับรถจักรยานขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ ภาษาปากเรียก รถเครื่อง หรือ มอเตอร์ไซค์.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ

: จึงสมควรที่สุดที่จะช่วยกันสมมุติให้ดีงาม

#บาลีวันละคำ (3,956)

12-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *