บาลีวันละคำ

สถิติ (บาลีวันละคำ 3,958)

สถิติ 

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า สะ-ถิ-ติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สถิติ : (คำนาม) หลักฐานที่รวบรวมเอาไว้เป็นตัวเลขสําหรับเปรียบเทียบหรือใช้อ้างอิง เช่น สถิติในการส่งสินค้าออกปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว. (ส. สฺถิติ; ป. ฐิติ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สถิติ” บาลีเป็น “ฐิติ

ฐิติ” บาลีอ่านว่า ถิ-ติ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = หยุดการไป, ยืน, ตั้งอยู่) + ติ ปัจจัย, แปลง ฐา เป็น ฐิ

: ฐา > ฐิ + ติ = ฐิติ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฐิติ” ว่า state, stability, steadfastness; duration, continuance, immobility; persistence, keeping up (สถานะ, เสถียรภาพ, ความแน่วแน่หรือแน่นอน; ความยาวนาน, การต่อเนื่อง, การไม่เคลื่อนไปเคลื่อนมา; ความไม่ละลด, การทำอยู่เสมอ)

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สถิติ” สันสกฤตเป็น “สฺถิติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถิติ : (คำนาม) การอยู่หรือตั้งอยู่; ภาวะหรือปรกฤติ; ศุทธิแห่งมรรยาท, อนุพันธ์ในการยมารค; เขตต์; วิราม, ความสิ้น; วิจาร, นิโยคหรือบัญชา, ศาสน์หรือราชาชญา; สัมมานะ; (คำใช้ในขโคลวิทยา) อวสถิติหรือเวลาอุปราค; staying or standing; state or condition; correctness of conduct, continuance in the path of duty; limit; cessation, stop; determination, order, decree; honour; (In astronomy) duration of an eclipse.”

โปรดสังเกตว่า คำนิยามใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์แปลกๆ ที่ควรจะต้องศึกษาหาความหมายกันต่อไปอีก เช่น –

– ปรกฤติ

– ศุทธิแห่งมรรยาท 

– อนุพันธ์ในการยมารค

– วิราม

– นิโยค

– ราชาชญา

– ขโคลวิทยา

– อวสถิติ

– เวลาอุปราค

จะเห็นได้ว่า “สถิติ” คำเดียวนำไปหาคำอื่นๆ อีกหลายคำ

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “ฐิติ” ในบาลี แปลว่า “การตั้งอยู่” หรือ “การยืน” ไม่ได้มีความหมายไปถึง “หลักฐานที่รวบรวมเอาไว้เป็นตัวเลขสําหรับเปรียบเทียบหรือใช้อ้างอิง” ตามความหมายที่ใช้ในภาษาไทย

สถิติ” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า statistic 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล statistic เป็นไทยว่า สถิติ, ข้อมูล, เกี่ยวกับสถิติ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า statistics อีกคำหนึ่ง แปลเป็นไทยว่า ตัวเลข, สถิติ, วิชาสถิติ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล statistic เป็นบาลีว่า :

saṅkhyālekhana สงฺขฺยาเลขน (สัง-ขฺยา-เล-ขะ-นะ) = การบันทึกจำนวน

และแปล statistics เป็นบาลีว่า :

mahājanika-saṅkhyālekhana มหาชนิกสงฺขฺยาเลขน (มะ-หา-ชะ-นิ-กะ-สัง-ขฺยา-เล-ขะ-นะ) = “การบันทึกจำนวนของมหาชน” > การบันทึกจำนวนระดับมหภาค

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล statistic เป็นบาลีว่า “ฐิติ” > “สถิติ

statistic > สถิติ จึงเป็นการบัญญัติศัพท์ด้วยเจตนาจะใช้คำไทยให้มีเสียงใกล้เคียงกับคำอังกฤษให้มากที่สุด อันนับว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของคนไทย

เรียนรู้คำบาลีได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เข้าใจคำไทยได้มากขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เข้าใจตัวเองได้มากเท่าไร

: เข้าใจโลกได้มากเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (3,958)

14-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *