กามโภคี (บาลีวันละคำ 3,959)
กามโภคี
ผู้อยู่กับโลกยังต้องบริโภคกามคุณ
อ่านว่า กา-มะ-โพ-คี
ประกอบด้วยคำว่า กาม + โภคี
(๑) “กาม”
บาลีอ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(มฺ) เป็น อา (กมฺ > กาม)
: กมฺ + ณ = กมณ > กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3) “ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา”
“กาม” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)
(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense)
(3) ความใคร่ (sense-desire)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”
(๒) “โภคี”
อ่านว่า โพ-คี รูปคำเดิมมาจาก โภค + อี ปัจจัย
(ก) “โภค” บาลีอ่านว่า โพ-คะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ภุชฺ + ณ = ภุชณ > ภุช > โภช > โภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอย” หรือ “สิ่งที่ต้องใช้สอย”
“โภค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเสพหรือบริโภค (enjoyment)
(2) สมบัติ, ความร่ำรวย (possession, wealth)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โภค, โภค-, โภคะ : (คำนาม) สมบัติ เช่น ถึงพร้อมด้วยโภคะ. (คำกริยา) กิน, ใช้สอย. (ป., ส.).”
(ข) โภค + อี ปัจจัย
: โภค + อี = โภคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีโภคะ” หรือ “ผู้บริโภค” (คือกินใช้สมบัติที่มีหรือที่หามาได้)
“โภคี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์: บริโภคหรือเสพ, มีหรือมีมาก, มีส่วนร่วมหรืออุทิศตนให้เพื่อความสุข (enjoying, owning, abounding in, partaking in or devoted to pleasure)
(2) เป็นนาม: เจ้าของ (ผู้มีทรัพย์), คนร่ำรวย (owner, wealthy man)
กาม + โภคี = กามโภคี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บริโภคกาม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ถอดความคำว่า “กามโภคี” ออกมาว่า enjoying the pleasures of the senses (ผู้ได้รับความบันเทิงอยู่ในกาม)
และขยายความต่อไปว่า as Ep. of the kāmûpapatti-beings (เป็นคำแสดงลักษณะของสัตว์โลกผู้มีชีวิตอยู่ในกาม)
ถ้าถามว่า “บริโภคกาม” คือทำอะไร ก็ตอบได้เลยว่า กิน ดื่ม เที่ยว เล่น เสพสุข หรือตอบด้วยคำคนเก่าที่ออกไปทางหยาบๆ ว่า “กินขี้ปี้นอน” ผู้ที่ยังต้องทำอย่างนี้นี่แหละคือ “กามโภคี”
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ตรัสถึง “กามโภคี” หรือ “กามโภคีบุคคล” ไว้ 10 จำพวก ขอยกคำบาลีพร้อมทั้งคำแปลเต็มๆ มาให้ศึกษากันพอเป็นตัวอย่างจำพวกหนึ่ง เป็นจำพวกที่ 1 ข้อความเป็นดังนี้ –
…………..
อิธ คหปติ เอกจฺโจ กามโภคี อธมฺเมน โภเค ปริเยสติ สาหเสน อธมฺเมน โภเค ปริเยสิตฺวา สาหเสน น อตฺตานํ สุเขติ ปิเนติ น สํวิภชติ น ปุญฺญานิ กโรติ ฯ
กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ
ที่มา: ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 91
…………..
สรุปลักษณะกามโภคีบุคคล 10 จำพวกเป็นดังนี้ –
(1) หากินในทางผิด ได้มาแล้วไม่กินไม่ใช้ ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(2) หากินในทางผิด ได้มาแล้วกินเองใช้เอง แต่ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(3) หากินในทางผิด ได้มาแล้วกินเองใช้เองด้วย แจกจ่ายทำบุญด้วย
(4) หากินในทางถูกบ้างผิดบ้าง ได้มาแล้วไม่กินไม่ใช้ ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(5) หากินในทางถูกบ้างผิดบ้าง ได้มาแล้วกินเองใช้เอง แต่ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(6) หากินในทางถูกบ้างผิดบ้าง ได้มาแล้วกินเองใช้เองด้วย แจกจ่ายทำบุญด้วย
(7) หากินในทางถูก ได้มาแล้วไม่กินไม่ใช้ ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(8 ) หากินในทางถูก ได้มาแล้วกินเองใช้เอง แต่ไม่แจกจ่ายทำบุญ
(9) หากินในทางถูก ได้มาแล้วกินเองใช้เองด้วย แจกจ่ายทำบุญด้วย แต่ยังติดโลกติดสุข ไม่คิดสละละวาง
(10) หากินในทางถูก ได้มาแล้วกินเองใช้เองด้วย แจกจ่ายทำบุญด้วย ทั้งไม่ติดโลกติดสุข คิดสละละวาง
…………..
โปรดพิจารณาตนเองว่า เป็นกามโภคีบุคคลจำพวกไหน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บัณฑิต อาศัยโภคะเป็นพาหนะพาไปถึงพระนฤพาน
: คนเขลา อาศัยโภคะเป็นยานพาไปถึงนรก
#บาลีวันละคำ (3,959)
15-4-66
…………………………….
…………………………….