บาลีวันละคำ

คณาจารย์ (อีกที) (บาลีวันละคำ 3,964)

คณาจารย์ (อีกที)

ถ้าเข้าใจคำนี้ ก็เข้าใจภาษาบาลีดีขึ้น

ภาษาไทยอ่านว่า คะ-นา-จาน

ประกอบด้วยคำว่า คณ + อาจารย์

(๑) “คณ

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + (อะ) ปัจจัย 

: คณฺ + = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน” 

คณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.

(๒) “อาจารย์” 

บาลีเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” 

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” 

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

คณ + อาจริย = คณาจริย (คะ-นา-จะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาจารย์ของคณะ” หมายถึง อาจารย์ที่ประจำอยู่ในคณะนั้นๆ 

คณาจริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คณาจารย์” (คะ-นา-จาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

คณาจารย์ : (คำนาม) คณะอาจารย์. (ส. คณ + อาจารฺย).”

อภิปรายขยายความ :

เป็นอันว่า ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “คณาจารย์” ย่อมหมายถึง กลุ่ม หมู่ พวกของอาจารย์ คืออาจารย์หลายๆ คนรวมกัน

ในพระไตรปิฎกมีศัพท์ว่า “คณาจริย” ดังที่แสดงรากศัพท์ไว้ข้างต้น

พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลทับศัพท์ว่า “คณาจารย์”

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงที่มาของศัพท์ว่า –

: คณสฺส  อาจริโยติ  คณาจริโย.

แปลว่า “ที่เรียกว่า คณาจารย์ หมายถึง อาจารย์ของคณะ

เป็นอันได้ข้อยุติว่า “คณาจารย์” ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง “อาจารย์ประจำคณะ” ไม่ใช่ “คณะของอาจารย์” (คณะอาจารย์)

คำว่า “คณาจารย์” ถ้าแปลอีกสำนวนหนึ่งว่า “อาจารย์ประจำคณะ” อาจช่วยให้มองเห็นภาพของคำชัดขึ้น

เรื่องนี้ขอให้ระลึกถึงวัฒนธรรมของการก่อตั้งสำนักทางลัทธิศาสนาซึ่งแปรมาเป็นสำนักทางการศึกษา

สำนักเก่าแก่ในสังคมไทยคือ วัด ซึ่งเป็นทั้งสำนักทางศาสนาและสำนักทางการศึกษา

ไม่ต้องดูไกล ดูแค่วัดสำคัญๆ ที่เห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุ (ท่าพระจันทร์) วัดบวรนิเวศ วัดเหล่านี้ล้วนมี “คณะ” หลายคณะอยู่ในวัด

เช่น วัดบวรนิเวศ มีคณะบวรรังษี คณะเหลืองรังษี คณะขาบรังษี นี่ใช้ถ้อยคำเป็นชื่อคณะ

วัดมหาธาตุ ใช้ตัวเลขเป็นชื่อคณะ มีตั้งแต่คณะ ๑ คณะ ๒ แต่ก็มีคณะหนึ่งชื่อ “คณะสลัก” อันเป็นชื่อเก่าของวัดอยู่ในวัดมหาธาตุนี้

วัดพระเชตุพนฯ ใช้ตัวเลขปนกับถ้อยคำ เช่น คณะกลาง ๑ คณะใต้ ๕ อะไรประมาณนี้

วัดอื่นๆ ทั่วไป ก็จะมีคณะต่างๆ ทำนองเดียวกัน

พระที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลประจำคณะ เรียกวา “เจ้าคณะ”

เจ้าคณะ ไม่ใช่เจ้าอาวาส แต่ขึ้นกับเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง

คำว่า “เจ้าคณะ” ก็ตรงกับคำว่า “คณบดี” นั่นเอง (คณ + ปติ =คณบดี ปติ แปลว่า เจ้านาย, ผัว)

คณบดี ขึ้นกับอธิการบดี ก็แบบเดียวกับเจ้าคณะขึ้นกับเจ้าอาวาส

คณะต่างๆ ในวัด จะมีพระภิกษุสามเณรรวมตลอดถึงศิษย์วัดอยู่ในสังกัด ทำนองเดียวกับนิสิตนักศึกษาในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

เจ้าคณะจะแต่งตั้งพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถให้ช่วยทำหน้าที่อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรในคณะของตน 

นี่คือ “คณาจารย์” ในความหมายดั้งเดิม คือ “อาจารย์ประจำคณะ”

บางคณะอาจมีอาจารย์ประจำคณะเพียงรูปเดียว แต่ก็ยังได้นามว่า “คณาจารย์” กรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า “คณาจารย์” ไม่ใช่ “คณะอาจารย์” (ตามความหมายในพจนานุกรมฯ) เพราะอาจารย์รูปเดียวย่อมเป็น “คณะอาจารย์” ไม่ได้

คำว่า “คณาจารย์” ถ้าหมายถึง “คณะ (ของ) อาจารย์” ดังที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้ ก็ต้องสงสัยว่า ทำไมไม่คงรูปเป็น “คณะอาจารย์” ทำไมจึงแปลงรูปเป็น “คณาจารย์”

เหมือน “คณะของครู” ก็พูดว่า “คณะครู”

“คณะของนักเรียน” ก็พูดว่า “คณะนักเรียน”

“คณะของศิษย์” ก็พูดว่า “คณะศิษย์”

“คณะของอาจารย์” แทนที่จะพูดว่า “คณะอาจารย์” กลับแปลงรูปเป็น “คณาจารย์”

ถ้าบอกว่าเป็นคำสนธิ ระหว่าง คณะ + อาจารย์ จึงต้องเป็น คณาจารย์ (โปรดสังเกต ลบสระ อะ ที่ ณะ)

“คณะครู” (คณะ + ครู) ก็น่าจะเขียนเป็น “คณครู” (ลบสระ อะ ที่ ณะ)

“คณะนักเรียน” (คณะ + นักเรียน) ก็น่าจะเขียนเป็น “คณนักเรียน”

“คณะศิษย์” (คณะ +ศิษย์) ก็น่าจะเขียนเป็น “คณศิษย์”

เพราะเป็นคำสนธิเหมือนกัน และมีลักษณะการแปลจากหน้าไปหลังเหมือนกัน

ถ้าตอบว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคำว่า “ครู” “นักเรียน” “ศิษย์” ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยสระ อา เหมือน “อาจารย์”

แปลว่า ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ อา ก็สนธิได้ เช่นนั้นหรือ?

ถ้าเช่นนั้น – 

“คณะอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย” ก็ต้องเป็น “คณาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย”

“คณะอาชีพอิสระ” ก็ต้องเป็น “คณาชีพอิสระ”

“คณะอาเฮียและญาติ” ก็ต้องเป็น “คณาเฮียและญาติ”

สรุปว่า “คณาจารย์” ความหมายดั้งเดิมแปลว่า “อาจารย์ของคณะ” คือ อาจารย์ประจำคณะ เป็นคำสนธิ แปลจากข้างหลังไปหน้า

แต่ “คณาจารย์” ที่แปลว่า “คณะอาจารย์” เป็นคำที่คลาดเคลื่อน

ถ้าจะให้แปลว่า “คณะของอาจารย์” รูปศัพท์ควรจะเป็น “อาจารยคณะ” 

จริงอยู่ สมาสสนธิแปลจากข้างหน้าไปหลังก็มี แต่ไม่ควรเป็นคำนี้

ถ้าจะให้มีความหมายว่า “คณะของอาจารย์” ใช้ว่า “คณะอาจารย์” ดีที่สุด เป็นคำประสมเรียงพยางค์ธรรมดาอยู่แล้ว ลองเทียบดู –

คณะนักเรียน 

คณะศิษย์ 

คณะครู 

คณะอาจารย์ 

รูปคำเสมอกัน และไม่ไปสับสนกับ “คณาจารย์” ที่มีมาแต่เดิมด้วย

ลองเอาปัญหานี้ไปคิดเล่นๆ

สมมุติว่า คณะในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีตำแหน่งบรรณารักษ์ห้องสมุดของคณะ เรียกชื่อตำแหน่งนี้ว่า “คณบรรณารักษ์” แปลว่า “บรรณารักษ์ประจำคณะ” (เทียบกับคำว่า คณบดี) และมีบรรณารักษ์อยู่หลายคน

ถามว่า

“คณบรรณารักษ์” กับ “คณะบรรณารักษ์” มีความหมายต่างกันหรือไม่?

ถ้าคิดคำตอบได้ ก็จะเข้าใจได้ว่า “คณาจารย์” กับ “คณะอาจารย์” ต่างกันอย่างไร

ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีความต้องการจะให้ไปแก้ความหมายที่ใช้ในภาษาไทยตามที่เข้าใจกัน เข้าใจกันอย่างนั้นก็เข้าใจกันไป และใช้กันต่อไป เพียงแต่ขอให้เพิ่มความเข้าใจกำกับไว้ด้วยว่า “คณาจารย์” คือ “คณาจริย” ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างไร ต่างจากที่เข้าใจกันในภาษาไทยอย่างไร

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ ก็จะเข้าใจภาษาบาลีได้ดีขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเพียงแต่รู้ปัจจุบัน

: แต่จงรู้ทันปัจจุบันด้วย

#บาลีวันละคำ (3,964)

20-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *