บาลีวันละคำ

จิตเวช (บาลีวันละคำ 3,965)

จิตเวช

พูดกันมาก แต่ไม่มีในพจนานุกรม

อ่านว่า จิด-ตะ-เวด

ประกอบด้วยคำว่า จิต + เวช

(๑) “จิต” 

เขียนแบบบาลีเป็น “จิตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ

: จิ + ตฺ + = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาผสมกันไว้” (คือเขียนระบายไว้) หมายถึง สีระบาย, ลวดลาย (2) “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” หมายถึง จิต, ใจ อันเป็นที่เก็บสั่งสมบุญบาปไว้

(2) จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด

(3) จิตฺต (ความวิจิตรพิสดารต่างๆ) + ปัจจัย, ลบ

: จิตฺต + = จิตฺตณ > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้วิจิตรไปต่างๆ” หมายถึง จิต, ใจ ซึ่งมีลักษณะคิดเรื่องราวจินตนาการต่างๆ สุดจะบรรยาย

(4) จิตฺต (สิ่งที่งดงาม) + (อะ) ปัจจัย

: จิตฺต + = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต” หมายถึง จิตรกรรม, ความวิจิตรต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

(1) the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

(2) variegated, manifold, beautiful; tasty, sweet, spiced (of cakes) (วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน, ใส่เครื่องเทศ [พูดถึงขนม]) 

(3) painting (ภาพเขียน) 

ในที่นี้ “จิตฺต” ใช้ในความหมายตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลในข้อ (1)

จิตฺต” ในภาษาไทยในที่ทั่วไป ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

(๒) “เวช” 

บาลีเป็น “เวชฺช” อ่านว่า เวด-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิชฺชา ( = ความรู้ทางยา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิชฺ-เป็น เอ, ลบ และลบสระท้ายคำหน้า : วิชฺชา > วิชฺช

: วิชฺชา + = วิชฺชา > เวชฺชา > เวชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้วิชาทางยา

(2) วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ วิ-เป็น เอ, แปลง ทฺย เป็น ชฺช

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺย > เวทฺย > เวชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้การเยียวยา” 

เวชฺช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอรักษาโรค

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวชฺช” ว่า a physician, doctor, medical man, surgeon (หมอ, แพทย์, หมอยา, ศัลยแพทย์)

เวชฺช” สันสกฤตเป็น “ไวทฺย” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ไวทฺย : (คำนาม) ‘แพทย์’ หมอยา, หมอรักษาโรค; ผู้คงแก่เรียน; ผู้คงแก่เรียนในพระเวท; a physician, a learned man; one well versed in Vedas;- (คำวิเศษณ์) อันเป็นสัมพันธินแก่ยา; medical relating to medicine.”

เวชฺช” ใช้ในภาษาไทยว่า “เวช” (มักเป็นส่วนท้ายของคำ) และ “เวช-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เวช, เวช– : (คำนาม) หมอรักษาโรค. (ป. เวชฺช; ส. ไวทฺย).”

ภาษาไทยมีคำว่า “แพทย์” อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

แพทย-, แพทย์ : (คำนาม) หมอรักษาโรค. (ส. ไวทฺย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “แพทย์” สันสกฤตเป็น “ไวทฺย” 

ไวทฺย” ในสันสกฤตก็ตรงกับ “เวชฺช” ในบาลี ดังนั้น “เวช” กับ “แพทย์” ก็เป็นคำเดียวกัน 

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “เวช” พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า บาลี “เวชฺช” สันสกฤต “ไวทฺย

แต่ที่คำว่า “แพทย์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า สันสกฤต “ไวทฺย” แต่ไม่ได้บอกว่า บาลี “เวชฺช

นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ใช้พจนานุกรมควรสังเกตไว้

จิต + เวช = จิตเวช (จิด-ตะ-เวด) แปลตามศัพท์ว่า “หมอรักษาโรคเกี่ยวกับจิต” 

คำว่า “จิตเวช” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่มีคำว่า “จิตเวช” แต่มีคำว่า “จิตเวชศาสตร์” (จิด-ตะ-เวด-ชะ-สาด) บอกไว้ดังนี้ –

จิตเวชศาสตร์ : (คำนาม) วิชาแพทย์แขนงหนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาการตรวจรักษาและป้องกันโรคของจิตใจ เช่น โรคประสาท โรคจิต. (อ. psychiatry).”

ตามหลักการเรียงคำ ก่อนจะมาถึงคำว่า “จิตเวชศาสตร์” ก็ต้องผ่านคำว่า “จิตเวช” แต่พจนานุกรมฯ ก็ข้ามคำว่า “จิตเวช” ไป ดังจะบอกว่าคำว่า “จิตเวช” ยังไม่มีในภาษาไทย

น่าสังเกตว่า พจนานุกรมฯ มีคำว่า “เวชศาสตร์” มีคำว่า “จิตเวชศาสตร์” แต่ไม่มีคำว่า “จิตเวช

คำว่า “เวชศาสตร์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

เวชศาสตร์ : (คำนาม) ชื่อตํารารักษาโรคแผนโบราณ, วิชาว่าด้วยการรักษาโรคโดยการใช้ยา.”

คำที่ควรนำมาพิจารณาด้วยอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “จิตแพทย์” คำนี้อ่านว่า จิด-ตะ-แพด ไม่ใช่ จิด-แพด ดังที่หลายๆ คนอ่านตามสะดวกปาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “จิตแพทย์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

จิตแพทย์ : (คำนาม) แพทย์ผู้รักษาโรคทางจิตใจ ซึ่งมีอาการแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่ผิดปรกติ. (อ. psychiatrist).” 

คำว่า “จิตแพทย์” กับ “จิตเวช” เทียบกลับเป็นบาลีก็เป็นคำเดียวกัน คือ “จิตฺตเวชฺช” แต่พึงทราบว่าในคัมภีร์บาลียังไม่พบรูปคำเช่นนี้

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “จิตแพทย์” ไม่ได้เก็บคำว่า “จิตเวช” แต่ “จิตเวช” ก็เป็นคำที่มีผู้ใช้กันทั่วไป จึงน่าคิดว่า “จิตแพทย์” กับ “จิตเวช” เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?

พิจารณาจากคำนิยามของพจนานุกรมฯ : 

จิตแพทย์” = แพทย์ผู้รักษาโรคทางจิตใจ ซึ่งมีอาการแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่ผิดปรกติ

จิตเวช” (ในคำว่า “จิตเวชศาสตร์”) = วิชาแพทย์แขนงหนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาการตรวจรักษาและป้องกันโรคของจิตใจ เช่น โรคประสาท โรคจิต

ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะเข้าใจว่า –

อวัยวะที่ทำหน้าที่คิดนึกมีสภาพปรกติ ไม่เป็นโรคใดๆ แต่วิธีนึกคิดผิดแปลกไปจากคนปกติ ต้องแก้ไขที่วิธีนึกคิด อย่างนี้เป็นหน้าที่ของ “จิตแพทย์

อวัยวะที่ทำหน้าที่คิดนึกมีสภาพผิดปรกติด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่งผลให้การนึกคิดผิดแปลกไปจากคนปกติ ถ้าแก้ไขอาการผิดปกติที่อวัยวะได้ อาการผิดปรกติทางการนึกคิดก็จะหายไปเอง อย่างนี้เป็นหน้าที่ของ “จิตเวช

หรืออาจจะแยกหน้าที่ชัดๆ ว่า –

จิตแพทย์” รักษาเน้นหนักทางจิตภาพ

จิตเวช” รักษาเน้นหนักทางกายภาพ

ผิดถูกประการใด ขอผู้รู้โปรดพิจารณาด้วยเถิด

เมื่อใดที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บคำว่า “จิตเวช” เข้าไว้ด้วย เมื่อนั้นเราก็คงได้คำตอบว่า “จิตแพทย์” กับ “จิตเวช” ในภาษาไทยมีความหมายต่างกันหรือเหมือนกัน

ปัญหาคงมีแต่เพียงว่า-อีกนานแค่ไหน คำว่า “จิตเวช” จึงจะได้รับการพิจารณาเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน??

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทนลำบากรักษาจิตของตนเองเป็นพิเศษ

: ก็ไม่ต้องพึ่งจิตเวชให้ต้องลำบากใจ

#บาลีวันละคำ (3,965)

21-4-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *