บาลีวันละคำ

โอมสวาท (บาลีวันละคำ 3,966)

โอมสวาท

ศัพท์วิชาการวินัยบัญญัติ

ถ้าไม่เรียน รับรองว่าเข้าใจผิดถนัดทุกคน

เริ่มตั้งแต่คำอ่าน ร้อยทั้งร้อยบอกว่า อ่านว่า โอม-สะ-หฺวาด

ที่อ่านเช่นนั้น เพราะเข้าใจไปว่าเป็น โอม + สวาท

โอม” ก็คือคำขึ้นต้นร่ายมนตร์

สวาท” ก็คือรักใคร่ในทางกามารมณ์

โอมสวาท” คือร่ายมนตร์เพื่อให้คนหลงรัก

รูปคำและคำแปล-คำอธิบายกลมกลืนกันยิ่งนัก แต่โปรดทราบว่า-ผิดถนัดทั้งหมด

โอมสวาท” เป็นคำบาลี 

อ่านแบบบาลีว่า โอ-มะ-สะ-วา-ทะ

อ่านแบบคำไทยว่า โอ-มะ-สะ-วาด (-วาด ไม่ใช่ -หฺวาด)

ประกอบด้วยคำว่า โอมส + วาท

(๑) “โอมส” 

อ่านว่า โอ-มะ-สะ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง, ต่ำ) + มสฺ (ธาตุ = นับ, จับต้อง, สัมผัส) + (อะ) ปัจจัย

: โอ + มสฺ = โอมสฺ + = โอมส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “นับลง” “จับลง” หมายถึง ดึงให้ต่ำลง กดให้ต่ำลง ตีราคาหรือให้คุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริง

รูปคำกริยาสามัญ (กิริยาอาขยาต) ของ “โอมส” คือ “โอมสติ” (โอ-มะ-สะ-ติ) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (แปลตามตัว) จับต้อง (to touch) 

(2) (แปลตามความหมาย) สัมผัส, ติเตียน, ดูถูก (to touch a person, to reproach, insult)

ภาษาพระวินัยที่ชาววัดเรียนกันมา ท่านแปล “โอมส” ว่า “เสียดแทง” เล็งถึงถ้อยคำที่เสียดแทงจิตใจ

(๒) “วาท” 

บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วท > วาท)

: วทฺ + = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด

คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :

(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)

(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)

(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)

(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วาท, วาท– : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”

โอมส + วาท = โอมสวาท (อ่านแบบบาลี โอ-มะ-สะ-วา-ทะ อ่านแบบไทย โอ-มะ-สะ-วาด) แปลว่า “ถ้อยคำเสียดแทง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “โอมสวาท” ไว้ดังนี้ –

…………..

โอมสวาท : พูดเสียดแทงให้เจ็บใจหรือให้ได้ความอัปยศ ได้แก่ การพูดแดกหรือประชดก็ตาม ด่าก็ตาม กระทบถึง อักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ มีชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล เป็นต้น ภิกษุกล่าวโอมสวาทแก่ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ ตามสิกขาบทที่ ๒ แห่งมุสาวาทวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

…………..

ขยายความ :

หนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนอธิบายสิกขาบทในหมวดปาจิตตีย์ กล่าวถึง “โอมสวาท” ไว้ดังนี้ –

…………..

        สิกขาบทที่ ๒ ว่า เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท.

        โอมสวาทนั้น คือคำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจ พึงรู้โดยลักษณะอย่างนี้: ผู้พูดปรารถนาจะทำให้ผู้ที่ตนมุ่งเจ็บใจ หรือได้ความอัปยศ พูดหรือแสดงอาการอย่างอื่นด้วยเจตนานั้น ให้ผู้ที่ตนมุ่งรู้ความแห่งคำพูดที่พูดหรืออาการที่แสดงนั้น ใช้เป็นเครื่องเสียดแทงเพื่อเจ็บใจ วัตถุสำหรับอ้างขึ้นกล่าวเสียดแทงนั้น คือ ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน ๑ ชื่อ ๑ โคตร คือแซ่ ๑ การงาน ๑ ศิลปะ ๑ โรค ๑ รูปพรรณสัณฐาน ๑ กิเลส ๑ อาบัติ ๑ คำสบประมาทอย่างอื่นอีก ๑ รวมเป็น ๑๐ นี้เรียกว่าอักโกสวัตถุ แปลว่าเรื่องสำหรับด่า.

        กิริยาพูดเสียดแทงนั้น เป็นไปโดยอาการ ๒ สถาน แกล้งพูดยกยอด้วยเรื่องที่ดีกระทบถึงชาติเป็นต้น ซึ่งเรียกว่าแดกบ้าง ประชดบ้างอย่าง ๑ พูดกดให้เลวลง ซึ่งเรียกว่าด่า ๑ …

ที่มา: วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 121

…………..

คำว่า “โอมสวาท” เป็นตัวอย่างคำที่ชวนให้เข้าใจผิดได้ง่าย เริ่มตั้งแต่อ่านผิด ตามด้วยเข้าใจความหมายผิด

ลองนึกดูว่า ถ้ามีผู้เอาคำนี้ไปพูดไปใช้ตามความหมายที่เข้าใจเอาเอง คือเข้าใจผิดกันมากๆ จะเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การใช้คำผิดความหมาย และความหมายที่ผิดนั้นก็จะกลายเป็นถูก 

ผิดกลายเป็นถูกเกิดขึ้นได้เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้

จากเข้าใจผิด ต่อไปก็จะลามไปถึงปฏิบัติผิด

ถ้าเข้าใจผิดปฏิบัติผิดระบาดเข้าไปในหลักพระธรรมวินัย แทนที่จะชวนกันศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง ก็กลับช่วยกันอธิบายให้ผิดกลายเป็นถูก ลองนึกดูเถิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธศาสนา?

และขณะนี้ สภาพเช่นว่านี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หลงคำ ยังพอมีแหล่งให้สืบค้น

: หลงคน ไม่รู้จะไปแก้ที่ใคร

#บาลีวันละคำ (3,966)

22-4-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *