รูปิยสังโวหาร (บาลีวันละคำ 3,973)
รูปิยสังโวหาร
ศัพท์วิชาการที่บอกอนาคตของวัด
อ่านว่า รู-ปิ-ยะ-สัง-โว-หาน
ประกอบด้วยคำว่า รูปิย + สังโวหาร
(๑) “รูปิย”
อ่านว่า รู-ปิ-ยะ รากศัพท์มาจาก รูป + อิย ปัจจัย
(ก) “รูป” บาลีอ่านว่า รู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อ (อะ) ปัจจัย
: รูปฺ + อ = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน”
(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)
: รุปฺ + อ = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
“รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)
(ข) รูป + อิย ปัจจัย
: รุปฺ + อิย = รูปิย แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุที่เขาประทับรูปม้าเป็นต้นไว้”
หมายความว่า เมื่อแรกสร้างได้ทำรูปต่างๆ เช่นรูปม้าไว้บนวัตถุนี้ ดังนั้นจึงเรียกวัตถุนี้ว่า “รูปิย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รูปิย” ว่า silver (เงิน) แต่ได้ขยายความไว้ด้วยว่า here collectively for any transactions in “specie” (ในที่นี้ โดยรวมๆ แทนการค้าขาย ใน “เงินเหรียญ”)
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 224 อธิบายรูปิยสิกขาบท ขยายความคำว่า “รูปิย” ไว้ดังนี้ –
………..
รชตํ ปน สงฺโข สิลา ปวาฬํ รชตํ ชาตรูปนฺติ อาทีสุ รูปิยํ วุตฺตํ ฯ อิธ ปน ยงฺกิญฺจิ โวหารคามนียํ กหาปณาทิ อธิปฺเปตํ ฯ
แปลว่า –
ส่วนเงินท่านเรียกว่า รูปิยะ ในคำทั้งหลายว่า สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง เป็นต้น. แต่ในสิกขาบทนี้ท่านประสงค์เอากหาปณะเป็นต้นอย่างใดอย่างอย่างหนึ่งที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้.
………..
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รูปิยะ : (คำนาม) เงินตรา. (ป.).”
เป็นคำนิยามสั้นๆ แต่มีความหมายที่ยืดยาว
(๒) “สังโวหาร”
เขียนแบบบาลีเป็น “สํโวหาร” อ่านว่า สัง-โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ + โวหาร
(ก) “สํ” อ่านว่า สัง เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)
(ข) “โวหาร” บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ลบสระหน้า” คือ วิ + อว ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ว), แผลง อว เป็น โอ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: วิ > ว + อว > โอ : ว + โอ = โว + หรฺ = โวหร + ณ = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำเป็นเครื่องกล่าว” (3) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (4) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง” (5) “การตกลงกัน”
“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“โวหาร : (คำนาม) ชั้นเชิงหรือสํานวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคําที่เล่นเป็นสําบัดสํานวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”
ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(2) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
อภิปรายแทรก :
๑ การที่ “โวหาร” หมายถึงธุรกิจ การค้า คงจะมีมูลมาจากผู้ขายสินค้าร้องเรียกผู้คนให้มาซื้อสินค้าของตนไม่ว่าจะขายอยู่กับที่หรือนำสินค้าไปตระเวนขาย
ถ้าดูที่การโฆษณาสินค้าในสมัยนี้จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุด การโฆษณานั่นเองคือความหมายของ “โวหาร” และนั่นจึงเป็นเหตุให้ “โวหาร” หมายถึงธุรกิจ การค้า
๒ การที่ “โวหาร” หมายถึงคดีความ ก็อธิบาย (แบบลากเข้าความ) ได้ว่า ในกระบวนของการ “เป็นความ” กันนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยจะต้องใช้ “โวหาร” เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเป็นฝ่ายถูก อีกข้างหนึ่งเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายไหนใช้โวหารโน้มน้าวให้น่าเชื่อได้ดีกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะคดี เพราะฉะนั้น “โวหาร” จึงหมายถึงคดีความได้ด้วย
๓ ในภาษาไทยมีคำว่า “โว” พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า –
“โว : (ภาษาปาก) (คำกริยา) พูดโอ้อวด เช่น โวมากไปหน่อยแล้ว. (คำวิเศษณ์) โอ้อวด เช่น คุยโว.”
“โว” น่าจะตัดมาจาก “โวหาร” นี่เอง
สํ + โวหาร = สํโวหาร (สัง-โว-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การซื้อขายร่วมกัน” (ผู้ซื้อกับผู้ขายร่วมกันทำสิ่งนั้น) หมายถึง ธุรกิจ, การค้าขาย (business, traffic)
โปรดสังเกตว่า คำว่า “สํโวหาร” นี้ ในบาลี “สํ” คงรูปเป็น “สํ” ไม่แปลงนิคหิตเป็น งฺ เหมือนในคำทั่วไป คือเขียนเป็น “สํโวหาร” ไม่ใช่ “สงฺโวหาร”
แต่ในภาษาไทยเขียนเป็น “สังโวหาร” อ่านว่า สัง-โว-หาน คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
รูปิย + สํโวหาร = รูปิยสํโวหาร (รู-ปิ-ยะ-สัง-โว-หา-ระ) แปลว่า “การซื้อขายด้วยรูปิยะ” หมายถึง การจับจ่ายซื้อขายสิ่งของโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
“รูปิยสํโวหาร” ในภาษาไทยเขียนเป็น “รูปิยสังโวหาร” อ่านว่า รู-ปิ-ยะ-สัง-โว-หาน
ขยายความ :
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “รูปิยสังโวหาร” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
รูปิยสังโวหาร : การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ, การซื้อขายด้วยเงินตรา, ภิกษุกระทำ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙)
…………..
“รูปิยสํโวหาร” หรือ “รูปิยสังโวหาร” เป็นศัพท์วิชาการทางพระวินัย ในอาบัติหมวดนิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 9 บัญญัติไว้ว่า –
…………..
โย ปน ภิกฺขุ นานปฺปการกํ รูปิยสํโวหารํ สมาปชฺเชยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ ฯ
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 109
หนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –
…………..
อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะมีประการต่าง ๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
…………..
หนังสือ นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –
…………..
๙. ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
…………..
คัมภีร์อรรถกถาพระวินัย (สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 262) อธิบายคำว่า “รูปิยสํโวหารํ” (การซื้อขายด้วยรูปิยะ) ว่าหมายถึง “ชาตรูปรชตปริวตฺตนํ” แปลว่า “การแลกเปลี่ยนด้วยทองและเงิน”
…………..
สรุปความตามสิกขาบทนี้ก็คือ ภิกษุซื้อของก็ตาม ขายของก็ตาม เป็นอาบัติ คือมีความผิดตามพระวินัย
…………..
คำถามแถม :
วัดเปิดร้านขายกาแฟ เพื่อนำผลกำไรมาเป็นทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรและเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของวัด เข้าข่าย “รูปิยสังโวหาร” หรือไม่?
กรุณาตอบตามหลักฐาน อย่าอนุมานว่าน่าจะ …
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าวันนี้วัดเปิดร้านขายกาแฟได้ ก็ไม่แปลก
: เพราะนี่คือก้าวแรกที่วัดจะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าในวันหน้า
#บาลีวันละคำ (3,973)
29-4-66
…………………………….
…………………………….