อุตรดิตถ์ (บาลีวันละคำ 3,982)
อุตรดิตถ์
คุ้นหน้าเหมือนคนสนิท แต่อาจแปลชื่อไม่ได้
อ่านว่า อุด-ตะ-ระ-ดิด
ประกอบด้วยคำว่า อุตร + ดิตถ์
(๑) “อุตร”
บาลีเป็น “อุตฺตร” อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ
: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อ = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป”
“อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)
(2) ทางทิศเหนือ (northern)
(3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)
(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)
บาลี “อุตฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุตดร” “อุตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อุดร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อุตดร, อุตร– : (คำนาม) อุดร. (ป., ส. อุตฺตร).
(2) อุดร : (คำนาม) ทิศเหนือ ใช้ว่า ทิศอุดร; ข้างซ้าย. (ป., ส. อุตฺตร).
(๒) “ดิตถ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “ติตฺถ” อ่านว่า ติด-ถะ รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ต-(รฺ) เป็น อิ, แปลง ร เป็น ต (ตรฺ > ติรฺ > ติตฺ)
: ตรฺ + ถ = ตรถ > ติรถ > ติตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องข้ามฟาก” (2) “ที่เป็นที่ข้ามฟาก” (3) “ความเห็นเป็นที่ให้สัตว์ทั้งหลายกระโดดดำผุดดำว่ายอยู่ในทิฐิหกสิบสอง”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ติตฺถ” ว่า ท่าน้ำ, ครูอาจารย์, เหตุ, ลัทธิ, ทิฐิ, น้ำศักดิ์สิทธิ์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติตฺถ” ดังนี้ –
(1) a fording place, landing place, which made a convenient bathing place (สถานที่ลุยน้ำข้ามฟาก, ท่าน้ำซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำอย่างเหมาะเจาะ)
(2) a sect (นิกายทางศาสนา)
ในที่นี้ “ติตฺถ” ใช้ในความหมายว่า ท่าน้ำ
บาลี “ติตฺถ” ภาษาไทยใช้เป็น “ดิตถ์” ตามรูปบาลีก็มี สะกดเป็น “ดิฐ” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดิฐ ๒, ดิตถ์ : (คำแบบ) (คำนาม) ท่านํ้า เช่น ท่าราชวรดิฐ อุตรดิตถ์, เขียนเป็น ดิษฐ์ ก็มี เช่น กาญจนดิษฐ์. (ป. ติตฺถ; ส. ตีรฺถ).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
อุตฺตร + ติตฺถ = อุตฺตรติตฺถ (อุด-ตะ-ระ-ติด-ถะ) > อุตรดิตถ์ (อุด-ตะ-ระ-ดิด) แปลว่า “ท่าที่อยู่ทางเหนือ” แปลสั้นๆ ว่า “ท่าเหนือ”
ขยายความ :
“อุตรดิตถ์” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย
อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงประวัติจังหวัดอุตรดิตถ์ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –
(ปรับย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย)
…………..
… จ.อุตรดิตถ์ เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายแห่งที่มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกและหลักฐานทางเอกสาร รวมทั้งร่องรอยทางโบราณคดีแสดงที่ตั้งของเมืองและชุมชน ได้แก่ เมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง เมืองลับแล แสดงว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านมีการตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน และเป็นเส้นทางเชื่อมภาคเหนือและภาคกลางของไทยกับบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง
สำหรับบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เดิมเป็นตำบลบ้านอยู่ในเขตเมืองพิชัย ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา เรียก ตำบลนั้นว่า บางโพ-ท่าอิฐ
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ สมัยรัตนโกสินทร์จึงได้ตั้งชุมชนที่ ต.บางโพ-ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ เรียกว่า เมืองอุตรดิตถ์ ขึ้นอยู่กับเมืองพิชัย
ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ย้ายที่ว่าการเมืองพิชัยไปตั้งที่เมืองอุตรดิตถ์ แต่คงให้เรียกว่าเมืองพิชัย ส่วนเมืองพิชัยเก่าลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อ.พิชัยเก่า
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้มีประกาศให้เปลี่ยนชื่อเมืองพิชัยเป็นเมืองอุตรดิตถ์ และให้เรียก อ.พิชัยเก่า ว่า อ.พิชัย
และใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อมีประกาศให้เรียกหน่วยการปกครองที่มีฐานะเป็นเมืองให้เป็นจังหวัดทุกเมือง เมืองอุตรดิตถ์จึงกลายเป็น จ.อุตรดิตถ์ ดังเช่นในปัจจุบัน …
ที่มา:
http://legacy.orst.go.th/?page_id=143
คำแนะนำ:
1 เปิดลิงก์ที่ให้ไว้ข้างบน
2 พิมพ์คำว่า “อุตรดิตถ์” ลงในช่อง “ชื่อที่ต้องการค้น”
3 คลิกที่คำว่า “ค้นหา”
…………..
โปรดสังเกตว่า อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฯ ไม่ได้กล่าวถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ว่าในอดีตเป็น “เมืองท่าน้ำแห่งทิศเหนือ” ดังที่ผู้เขียนประวัติจังหวัดอุตรดิตถ์ทั่วไปมักอธิบายเช่นนั้น
เว็บไซต์แห่งหนึ่งกล่าวถึงประวัติจังหวัดอุตรดิตถ์ไว้ดังนี้ –
…………..
… “อุตรดิตถ์” แปลว่า “ท่าเหนือ” เนื่องจากในสมัยก่อนเป็นท่าจอดเรือในแม่น้ำน่านที่พ่อค้าทั้งทางเหนือและทางใต้นำสินค้าลงเรือขึ้นล่องค้าขายนิยมมาจอดแวะพักที่อุตรดิตถ์ ซึ่งแต่เดิมชื่อ “บางโพท่าอิฐ”ขึ้นกับเมืองพิชัย บางโพท่าอิฐจึงกลายเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่สำคัญ มีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ขึ้นกับเมืองพิชัย เรียกขานว่า “เมืองอุตรดิตถ์” หมายถึงเมืองท่าน้ำแห่งทิศเหนือ …
ที่มา:
http://oknation.nationtv.tv/blog/loongdali/2012/09/04/entry-1
…………..
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำติดใจว่า ผู้ตั้งชื่อเมืองมีเหตุผลอย่างไรจึงใช้คำว่า “อุตรดิตถ์” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ท่าเหนือ” เป็นชื่อเมืองนี้
อันดับแรกที่คิดเหตุผลได้คือ คงจะมีพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า “ท่าเหนือ” อยู่ในเขตเมืองนี้ อาจเป็นเมืองเก่าหรือเป็นหมู่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง และเป็นพื้นที่สำคัญของเมือง จึงเอาชื่อ “ท่าเหนือ” มาแปลงเป็นคำบาลีว่า “อุตรดิตถ์” ใช้เป็นชื่อเมือง
ตรวจดูชื่ออำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่มี “อำเภอท่าเหนือ” ตรวจดูชื่อตำบลในอำเภอต่างๆ ก็ไม่มี “ตำบลท่าเหนือ”
คงเหลือแต่ชื่อวัด ชื่อหมู่บ้าน และชื่อพื้นที่อื่นๆ เช่นห้วยหนองคลองบึงเป็นต้น ซึ่งขณะที่เขียนนี้ยังไม่เป็นโอกาสที่จะสำรวจตรวจสอบได้
จึงขอฝากท่านผู้สนใจ โดยเฉพาะผู้คนที่เป็นชาวอุตรดิตถ์และผู้คนที่มีน้ำใจรักบ้านเมือง จะพึงช่วยกันศึกษาตรวจสอบต่อไป
นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คนไทยเกิดความรู้สึกรักบ้านเมือง รู้สึกถึงคุณค่าและหวงแหนถิ่นกำเนิดของตน
ถ้าไม่มีความรู้สึกนี้เป็นนิสัยฝังลึกอยู่ในใจ
ต่อไปอาจไม่มีประเทศไทยอยู่ในโลก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง
: แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้นอนๆ นั่งๆ ไม่ต้องทำอะไร
#บาลีวันละคำ (3,982)
…………………………….
…………………………….