บาลีวันละคำ

ปูชารเห (บาลีวันละคำ 3,983)

ปูชารเห

คำบาลีที่น่าพูดติดปาก

อ่านว่า ปู-ชา-ระ-เห

ปูชารเห” รูปคำเดิมเป็น “ปูชารห” อ่านว่า ปู-ชา-ระ-หะ แยกศัพท์เป็น ปูชา + อรห

(๑) “ปูชา” 

อ่านว่า ปู-ชา รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ปูชฺ + = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปูชา : (คำนาม) บูชา. (ป., ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปูชา” คือ “บูชา” หมายความว่า คำนี้จะสะกดเป็น “ปูชา” ก็ได้ แต่ก็หมายถึง “บูชา” คือ “บูชา” เป็นคำหลัก ส่วน “ปูชา” เป็นการสะกดอีกรูปหนึ่งของ “บูชา” เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้ว่า “ปูชา” หมายถึงอะไร ก็ต้องไปดูที่คำว่า “บูชา

ที่คำว่า “บูชา” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “ปูชา” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม หมายถึง “บูชา”  แต่ที่คำว่า “บูชา” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำกริยา

(๒) “อรห

บาลีอ่านว่า อะ-ระ-หะ รากศัพท์มาจาก อรหฺ (ธาตุ = สมควร, บูชา) + (อะ) ปัจจัย 

: อรหฺ + = อรห แปลตามศัพท์ว่า (1) “อันสมควร” (2) “อันเขาบูชา

อรห” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คู่ควรหรือสมควร, เหมาะสม, สมควรได้รับ, มีค่า (worthy of, deserving, entitled to, worth) 

(2) เหมาะหรือควร, พอดิบพอดี, เหมาะสม (fit for, apt for, suitable)

ปูชา + อรห = ปูชารห (ปู-ชา-ระ-หะ) แปลว่า “ควรแก่การบูชา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปูชารห” ว่า worthy of veneration, deserving attention (ควรบูชา, ควรเอาใจใส่)

ปูชารห” เป็นคำคุณศัพท์ ทำหน้าที่ขยายคำว่า “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ แปลว่า บุคคล) แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปูชารเห” เมื่อประกอบรูปความเข้าแล้วแปลได้ความว่า – บูชาบุคคลทั้งหลายที่ควรแก่การบูชา

ที่ควรแก่การบูชา” แปลจากคำว่า “ปูชารเห

ขยายความ :

บุคคลทั้งหลายที่ควรแก่การบูชาคือใคร?

คัมภีร์มังคลัตถทีปนีบรรยายไว้ดังนี้ 

…………..

บรรดาบรรพชิต –

อาจารย์และอุปัชฌายะเป็นผู้ควรแก่การบูชาของพวกอันเตวาสิกเป็นต้น

ภิกษุผู้แก่กว่าเป็นผู้ควรแก่การบูชาของภิกษุผู้ใหม่

บรรพชิตทั้งหมดเป็นผู้ควรแก่การบูชาของพวกคฤหัสถ์

ส่วนบรรดาคฤหัสถ์ –

พี่ชายหญิงเป็นผู้ควรแก่การบูชาของน้องชายน้องหญิง

มารดาบิดาเป็นผู้ควรแก่การบูชาของบุตรทั้งหลาย

สามีและพ่อผัวแม่ผัวเป็นผู้ควรแก่การบูชาของบุตรในสกุล

ที่มา: ปูชากถา มังคลัตถทีปนี ภาค 1 หน้า 84

…………..

ผู้รู้จำแนกวิธีบูชาไว้ 3 อย่าง คือ –

1 “สักการบูชา” (สัก-กา-ระ-) = บูชาด้วยเครื่องสักการะ > สนับสนุนด้วยวัตถุสิ่งของ เงินทอง ทรัพยากรต่างๆ

2 “สัมมานบูชา” (สำ-มา-นะ-, บางทีเสริมคำให้สูงขึ้นไปว่า “อภิสัมมานบูชา”) = บูชาด้วยการนับถือ > สนับสนุนด้วยการเชื่อถือ ปฏิบัติตาม แสดงความเห็นด้วย ให้ความร่วมมือ (บอกให้ทำอะไรก็ทำ)

3 “ปัคคาหบูชา” (ปัก-คา-หะ-) = บูชาด้วยการยกย่อง > สนับสนุนด้วยการแสดงความนิยมชมชอบ เทิดทูน ปกป้อง ส่งเสริม

…………..

คำว่า “ปูชารเห” ปู-ชา-ระ-เห ออกเสียงเลียนสำเนียงแขกอินเดียหน่อยๆ จะได้อรรถรสของถ้อยคำสำเนียงไปในทางคึกคักมีชีวิตชีวา พร้อมไปกับน้อมใจไปถึงผู้ที่ควรแก่การบูชา เป็นคำที่กระตุ้นเตือนให้ทำความดี ควรแก่การพูดเป็นคำติดปากได้คำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่านจะบูชาใคร เป็นเรื่องสำคัญ

: ท่านมีเหตุผลอย่างไรจึงบูชา เป็นเรื่องสำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (3,983)

9-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *