บาลีวันละคำ

ชมัยมรุเชฐ (บาลีวันละคำ 565)

ชมัยมรุเชฐ

(ชื่อสะพาน)

อ่านว่า ชะ-ไม-มะ-รุ-เชด

ประกอบด้วย ชมัย + มรุ + เชฐ

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ น่า ๔๒๘ วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๑๑๙ สะกดชื่อสะพานนี้เป็น “ชมัยมรุเชษฐ” (-เชษฐ มี ฤๅษี) แต่ป้ายที่สะพานสะกด “ชมัยมรุเชฐ” (-เชฐ ไม่มี ฤๅษี)

พจน.42 ไม่ได้เก็บคำว่า เชฐ มีแต่ เชษฐ-, เชษฐะ, เชษฐา

ชมัย” พจน.42 ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ แต่มีคำว่า “ชไม” (ชะ-ไม) บอกว่าเป็นคำเขมร แปลว่า “ทั้งคู่, ทั้ง 2

มรุ” เป็นคำบาลี มีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) ทะเลทราย, ที่กันดาร, ภูเขาหิน ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นเหตุให้ตาย” คือเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปในที่เช่นนี้แล้วมักจะตาย (2) เทวดา ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่แม้จะมีอายุยืนยาว แต่เมื่อถึงเวลาตามกำหนด ก็ตายเป็นปกติ” คือเทวดามีอายุยืนยาวก็จริง แต่เมื่อถึงกำหนดก็ยังต้องตายอยู่นั่นเอง

ในคำว่า “ชมัยมรุเชฐ” นี้ “มรุ” หมายถึง เทวดา

เชฐ” สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ” บาลีเป็น “เชฏฺฐ” (เชด-ถะ) แปลว่า ดีกว่า, ดีที่สุด, เลิศ, ยอด; เกิดก่อน, หัวปี, พี่ชายหรือพี่สาวคนโต; แก่กว่า, แก่ที่สุด (หมายถึงมีอายุมากกว่า ไม่ใช่ชรากว่า)

ในคำว่า “ชมัยมรุเชฐ” นี้ “เชฐ” หมายถึง พี่ชาย

ชมัย + มรุ + เชฐ = ชมัยมรุเชฐ

ชมัยมรุเชฐ” เป็นชื่อสะพานข้ามคลองเปรมประชากร อยู่บนถนนพิษณุโลกบริเวณแยกพณิชยการ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และวัดเบญจมบพิตร

สะพานแห่งนี้ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.2444 เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระเชษฐา 2 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

ชื่อสะพาน “ชมัยมรุเชฐ” จึงแปลว่า (เป็นที่ระลึกถึง) “พี่ชายผู้เป็นเทพ 2 พระองค์

หิริ + โอตตัปปะ :

เทวธรรม 2 ข้อ คือสะพานวิเศษ

ให้มนุษย์ข้ามกิเลสไปสู่ความเป็นเทวดา

—————–

(ตามข้อเสนอแนะของ Supachoke Thaiwongworakool)

2-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย